วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ลัทธิขงจื๊อ



ลัทธิขงจื๊อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

          ลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) เป็นศาสนาหรือลัทธิ ที่มีขงจื๊อ (551 - 479 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นผู้วางรากฐานให้กับลัทธิขงจื๊อที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมของจีน ในสมัยจลาจล โดยเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุขเรียบร้อย ทั้งนี้จะถือหลักการเรื่องมนุษยธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักแห่งสัมพันธภาพ 5 ประการ ได้แก่ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม (สอดคล้องกับหลักศีล 5 ของพุทธศาสนา)มีบุคคลบางคนกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อเป็นระบบศีลธรรมหรือหน้าที่พลเมืองดีมากกว่าศาสนา เพราะขงจื๊อมิได้ส่งเสริมให้มีความเชื่อถือในพระเจ้าที่เป็นตัวตน หรือการสวดอ้อนวอน ตลอดจนการบูชาพระผู้เป็นใหญ่ แม้ขงจื๊อจะสอนหนักไปทางจริยธรรมและ หน้าที่พลเมืองดี แต่หนังสือบางเล่มที่ขงจื้อแต่งไว้ก็ได้กล่าวถึงเทพเจ้า และอำนาจของเทพเจ้าที่มีอยู่เหนือโลก เช่นคัมภีร์อี้จิง หรือคัมภีร์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงได้กล่าวถึง ซ่างตี้ หรือเซี่ยงตี่ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลก เป็นที่น่าสังเกตว่า ขงจื๊อ เขียนคัมภีร์อี้จิง อันว่าด้วยจักรวาลและการสร้างโลกนั้น เป็นเพียงการรวบรวมความเชื่อของเก่าที่มีมาดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างโลก ตามความเห็นและความเชื่อถือของคนโบราณ
          ขงจื๊อสั่งสอนลูกศิษย์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ลูกศิษย์ของขงจื๊อจึงมีทุกชนชั้น ทำให้เกิดชนชั้นปัญญาชนขึ้นในสังคมจีน ปัญญาชนเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเข้ารับราชการ โดยหวังว่าปัญญาความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมมาจะเป็นประโยชน์ต่อการ ปกครองบ้านเมือง และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงและฐานะให้กับตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูลอีกด้วย ลัทธิขงจื๊อ เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แนวคิดหยู ซึ่งหมายถึงแนวคิดของปัญญาชน ผู้ที่ศึกษาแนวคิดของขงจื๊อและนักคิดคนอื่นๆ ในกลุ่มนี้เรียกกันในสมัยโบราณว่า ปัญญาชนหยู หรือชาวหยู ปัจจุบันลัทธิขงจื๊อแม้จะหมดบทบาทในด้านการเมือง แต่ในด้านวัฒนธรรม ลัทธิขงจื๊อยังฝังลึกอยู่ในสังคมจีนนานนับเป็นศตวรรษจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีน

ประวัติและพัฒนาการ
          นับตั้งแต่ขงจื๊อเริ่มรวบรวมตำราและคัมภีร์โบราณได้ห้าเล่ม คือ ซือจิง หรือคัมภีร์กวีนิพนธ์ ซูจิงหรือประวัติศาสตร์โบราณ หลี่จี้ หรือบันทึกว่าด้วยธรรมเนียมประเพณี อี้จิงหรือคัมภีร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและชุนชิว หรือประวัติศาสตร์สมัยชุนชิว แล้วได้ตั้งสำนักวิชาให้การศึกษาแก่ประชาชน หลังขงจื๊อเสียชีวิตไปแล้ว เม่งจื๊อหรือ เมิ่งจื่อ กลายเป็นนักคิดคนสำคัญของสำนักวิชาขงจื๊อหรือหยู เม่งจื๊อได้สังเคราะห์แนวคิดจากคัมภีร์ทั้งห้า ที่เน้นเสนอแนะให้ผู้ปกครองยึดมั่นคุณธรรมและสันติวิธี ยุติศึกสงครามที่กำลังดำเนินอยู่และเดินทางไปเสนอความเห็นแก่ผู้ปกครองใน อาณาจักรต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ความคิดสำคัญของเม่งจื๊อคือความเชื่อในความดีงามตามธรรมชาติของมนุษย์ การส่งเสริมการศึกษาและยังเสนอว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรมเหนือกว่าประชาชน อีกทั้งประชาชนพึงเคารพนับถือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม การล้มล้างเป็นสิ่งที่ชอบธรรม
          นักคิดคนสำคัญอีกคนของสำนักขงจื๊อคือซุนจื๊อหรือ สวินจื่อ ซึ่งเสนอให้อบรมสั่งสอนผู้คนให้มีคุณธรรมเคร่งครัด โดยเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีคุณธรรมมาก ขึ้น ซุนจื๊อเชื่อว่า "มนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน" ทำให้ต้องมีการควบคุมและอบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นคุณธรรมอย่างจริงจัง
          นักคิดและปัญญาชนสำนักวิชาขงจื๊อกลับถูกปราบปรามกวาดล้างครั้งใหญ่ในสมัย ราชวงศ์ฉินหรือจักรพรรดิจิ๋นซี ในเหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" เพราะเห็นว่าปัญญาชนขงจื๊อต่อต้านการปกครองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไร้ คุณธรรม อย่างไรก็ตาม ลัทธิขงจื๊อได้รับการฟื้นฟูและมีบทบาทอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ.- ค.ศ. 220) และกลายเป็นลัทธิคำสอนที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของจีนมากที่สุด รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคมในฐานะหลักในการดำเนินชีวิตของ ผู้คน คัมภีร์และตำราของสำนักวิชาขงจื๊อกลายเป็นตำราเรียนและวิชาหลักของชาวจีน ตั้งแต่โบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ้างอิง
  • "Confucianism," Microsoft® Encarta® Online Encyclopedia 2008
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki

ภูมิทัศน์วัฒนธรรมกับการตั้งถิ่นฐานบนที่ลาดชัน



เกรียงไกร  เกิดศิริ.  (2551). ชุมชนกับภูมิทัศน์วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์. หน้า 56-57
“ภูมิทัศน์วัฒนธรรมกับการตั้งถิ่นฐานบนที่ลาดชัน”
        การสร้างที่พักอาศัยของคนไทย  หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่เฉพาะจะมีที่อยู่อาศัยในที่ราบลุ่มริมแม่น้ำที่ดำเนินชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับน้ำจนมีการปรับตัวและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการสร้างที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย เช่นการสร้างเรือนยกพื้นสูง  เรือนแพลอยน้ำ เป็นต้นก็ตาม   แต่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูง ในพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก  ได้มีการเรียนรู้สภาพภูมิประเทศ จนในที่สุดสามารถปรับประยุกต์ออกแบบเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยอย่างชาญฉลาด โดยไม่แตกต่างจากผู้ทีอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำแต่อย่างได
          เนื่องจากคนบนที่ราบสูงที่อาศัยอยู่บนที่ลาดภูเขา  มีการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่มี 2 ลักษณะ คือ 1. ปรับสภาพพื้นที่ให้มีที่ราบเพียงพอสำหรับการปลูกสร้างอาคาร 2. สร้างบ้านเรือนอยู่บนเสาสูง  ซึ่งคล้ายกับผู้ที่อยู่อาศัยในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง  การปรับสภาพพื้นที่อยู่อาศัยของคนในที่ราบสูงจะปรับพื้นที่แต่พอสามารถสร้างที่พักได้เท่านั้น และสำหรับไว้ใช้สอย เช่นการเพาะปลูกที่พอเพียง  เพราะถ้ามีการสร้างใหญ่เกินไป  นั่นหมายถึงการสูญเสียด้านทรัพยากรและแรงงานโดยใช่เหตุ  รวมถึงการสร้างที่พักที่วางแนวขนานไปกับเส้นแนวระดับของพื้นที่  สำหรับการสร้างเรือนบนเสาสูงเป็นการสร้างคร่อมพื้นที่ลาดชันของพื้นที่  ทำให้ไม่ต้องปรับแต่งพื้นที่ และไม่เป็นการขวางการระบายน้ำผิวดินในยามที่มีน้ำหลากอีกด้วย

สายน้ำ: จุดกำเนิดชีวิตและภูมิทัศน์วัฒนธรรม



เกรียงไกร  เกิดศิริ.  (2551). ชุมชนกับภูมิทัศน์วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์. หน้า 52-53
“สายน้ำ: จุดกำเนิดชีวิตและภูมิทัศน์วัฒนธรรม”
          ในโลกนี้ประกอบด้วยน้ำสามในสี่ส่วน  จึงถือว่าน้ำเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งสำหรับการเลือกที่ตั้งถิ่นฐานของคนในอดีต  มักเลือกพื้นที่ที่มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค  ถ้าไม่ตั้งถิ่นฐานในที่ที่มีแหล่งน้ำสำหรับการใช้สอยก็จะมีภูมิปัญญาในการแสวงหาแหล่งน้ำมาใช้สอยได้ทุกชาติพันธุ์  คนไทยมีความใกล้ชิดกับน้ำมากจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้  น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกพื้นที่ในการตั้งชุมชนขึ้น  และที่สำคัญที่สุด คือการทำนาข้าวที่ต้องการน้ำในปริมาณมาในการเพาะปลูก  สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาข้าว  คือ ที่ราบลุ่มดินตะกอนปากแม่น้ำซึ่งเป็นที่ราบลุ่มที่มีความลาดชันน้อย  ซึ่งเป็นเหตุให้มีน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากทุกๆ ปี  ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้จึงต้องหาทางออกที่จะอยู่ร่วมกับความผันผวนของธรรมชาติ  ด้วยการเรียนรู้และแก้ปัญหาวิธีต่างๆ จนสั่งสมกลายเป็นภูมิปัญญาเฉพาะท้องถิ่นจำนวนมากมาย  ผลลัพธ์ของการดำเนินชีวิตและการจัดการเหล่านี้เองที่กลายเป็น “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม”  วิถีชีวิตของผู้คนริมคลอง  นิยมใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม  และการอุปโภค  แต่น้ำสำหรับบริโภคจะรองน้ำฝนใส่ตุ่มที่วางเรียงรายอยู่หน้าบ้าน  สะพานที่ยื่นออกมาทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายจากบ้านสู่เรือที่ลอยอยู่หน้าบ้าน  นอกจากนี้สะพานยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับนั่งกินลมชมวิว พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านยามเย็น

ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน



พุทธทาสภิกขุ.  (ม.ป.ป) คู่มือมนุษย์.  กรุงเทพฯ : ธรรมสภา. หน้า 1-22

“ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน”
        หนังสือทุกเล่มในปัจจุบันที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของศาสนา จะเห็นว่าเขาเขียนไว้เหมือนกัน คือคนป่าดั้งเดิมมีความกลัวเป็นพื้นฐาน จึงสรุปว่าศาสนาเกิดมาในโลกด้วยอำนาจแห่งความกลัว  ความกลัวของคนรุ่นใหม่กลัวความเกิด แก่ เจ็บ ตาย กลัวความโลภ โกรธ หลง ชนิดที่วัตถุภายนอกช่วยอะไรไม่ได้ ที่สุดแห่งศาสนา คือปัญญา ในที่สุดก็สามารถหาวิธีชนะความกลัวเหล่านั้นได้  พระพุทธศาสนาไม่ประสงค์การคาดคะเน  แต่จะทำอะไรไปด้วยปัญญาของตัวเอง คือต้องฟังและพิจารณาจนเข้าใจจริงจึงเชื่อ  และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง  พุทธศาสนาเนื้องอก คือการเกิดขึ้นของนิกายต่างๆ จนแถบจะเรียกชื่อไม่ถูก ถือเป็นเนื้อร้ายที่งอกขึ้นปิดบังห่อหุ้มเนื้อดี หรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆ ลบเลือนไป  จนกระทั้งกลายเป็นนิกายตันตระ ที่เนื่องด้วยกามารมณ์ จำเป็นที่ต้องแยกแยะให้ออกอะไรพุทธแท้จะได้ไม่ถือแต่เปลือกที่ติดอยู่แค่พิธีรีตอง ที่มุ่งปฏิบัติผิดไปจากจุดมุ่งหมายเดิม  ถ้ามองในแง่ศีลธรรม  พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม  เพราะมีการกล่าวถึงบาปบุญ  ดีชั่ว  ความกตัญญูกตเวที  ความสามัคคี ความเปิดเผยตัวตน  ในแง่ที่สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม (Truth) ที่กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งซ้อนเร้นที่คนสามัญจะเห็นได้ คือความว่างเปล่าของสัพพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา)  ส่วนในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) ได้แก่ศีล สมาธิ  ปัญญา และผลที่เกิดจากจากการปฏิบัติคือความหลุดพ้น คือถ้าใครปฏิบัติตามอย่างจริงจังก็สามารถหลุดพ้นได้จริง

ฮีตสิบสอง



สำลี  รักสุทธี. (2553)ฮีตสิบสองคลองสิบสี่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ พ.ศ. วัฒนา จำกัด. หน้า 9-121
“ฮีตสิบสอง”
          คำว่า ฮีต เป็นภาษาไทยอีสาน หมายถึง จารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะต้องมีการถือปฏิบัติ แม้กระทั้งในด้านประเพณีวัฒนธรรมก็ต้องมีหลักปฏิบัติที่เหมือนๆ กัน มี 12 คือ 
          ฮีตที่ 1 บุญเข้ากรรม  
          ฮีตที่ 2 บุญคูณลาน   
          ฮีตที่ 3 บุญข้าวจี่ 
          ฮีตที่ 4 บุญเผวส  
          ฮีตที่ 5 บุญสงกรานต์  
          ฮีตที่ 6 บุญบั้งไฟ 
          ฮีตที่ 7 บุญชำฮะ 
          ฮีตที่ 8 บุญเข้าพรรษา   
          ฮีตที่ 9 บุญข้าวประดับดิน   
          ฮีตที่ 10 บุญข้าวสาก (วันสารท) 
          ฮีตที่ 11 บุญออกพรรษา   
          ฮีตที่ 12 บุญกฐิน   
          ซึ่งจากบุญในแต่ละฮีตนี้นั้น  สามารถสรุปและแยกเป็นประเภทได้ดังนี้  
          1.  บุญที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์โดยตรง มี 6 คือ บุญเข้ากรรม  บุญข้าวจี่  บุญเผวส  บุญเข้าพรรษา  บุญออกพรรษา  และบุญกฐิน   
          2.  บุญที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน   ในลักษณะการขอพรเพื่อความโชคดี มีความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารของตน มี 2 คือ บุญคูณลาน  และบุญบั้งไฟ   
          3.  บุญเกี่ยวกับขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิต  ภายใต้ความเชื่อของคนในท้องถิ่น ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือนั้นจะช่วยให้ชีวิตของตนมีความเจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย มี 2 คือ บุญสงกรานต์  และบุญชำฮะ  
          4 .  บุญเกี่ยวกับความกตัญญู  เน้นที่การรู้จักคิดถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ มี 2 คือบุญข้าวประดับดิน  และบุญข้าวสาก (สารท)