วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระคุณพ่อแม่



พระคุณพ่อแม่[1]
ปุรัตถิมทิศ คือทิศเบื้องหน้าได้แก่มารดาบิดา
          บุตรพึงปฏิบัติต่อมารดา-บิดา 5 สถาน ดังนี้
          1.  ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ คือพ่อแม่เลี้ยงเรามาจนเติบโตขึ้นมาหวังจะให้เป็นคนดีต่อมารดาบิดาและคนอื่นในสังคม
          2.  ช่วยทำกิจการงานของท่าน
          3.  ดำรงวงศ์สกุลของท่านให้สามารถดำรงอยู่ได้ชั่วกาลนาน
          4.  ปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่สมควรได้รับทรัพย์มรดก
          5.  เมื่อมาราดา-บิดาล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศไปให้
          เมื่อมารดา-บิดาได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากบุตร-ธิดาในเบื้องต้นแล้ว  พึงอนุเคราะห์บุตร-ธิดา 5 สถาน คือ
          1.  ห้ามไม่ให้ทำความชั่วช้าลามกต่าง ๆ
          2.  ให้ตั้งหรือดำรงอยู่ในความดี
          3.  ส่งเสริมให้บุตร-ธิดาได้รับการศึกษาศิลปะวิทยาอย่างทั่วถึง
          4.  เมื่อถึงเวลาอันสมควร  หาภรรยา-สามีที่สมควรให้
          5.  มอบทรัพย์สมบัติให้ (มรดก)

          ดังนั้น  เมื่อเราทราบดังนี้แล้ว  พึงพากันปฏิบัติต่อกันและกันท่านใดมีหน้าที่อะไรก็จงทำหน้าที่ของตนให้ดีที่ ให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นการลดช่องว่างระหว่างครอบครัว  และความสามัคคี  ความอบอุ่นก็จะเกิดขึ้นกับครอบครัวนั้นๆ


     [1] สามเณรสมประสงค์  เติมงาม (โชค).  อายุ 13 ปี น.ธ.ตรี, ป.6

ธรรมะเบ็ตเตล็ด : แนวทางการดำเนินชีวิต



ธรรมะเบ็ตเตล็ด[1]
           เจริญสุขสวัสดีญาติโยมที่มาวัดฟังธรรม รักษาศีล  เจริญภาวนา  อาตมภาพได้นำธรรมะและข้อคิดดีๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานำเสนอ  เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต พิชิตความทุกข์ คือ
          1.  กัลยาณมิตตา  คือการคบเพื่อนที่ดี  มิตรที่ดี  การคบกัลยาณมิตรที่ดีนั้น  เป็นผลประโยชน์ที่ดีต่อตนเอง  เพราะการคบเพื่อนที่ดีนั้น  เพื่อนของตนจะนำพาเราปฏิบัติในทางที่ดี  ส่วนในสิ่งที่ดีที่ตนเองยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ  หรือสอนให้ตนเองได้รู้จักงานและรู้จักศึกษาประกอบอาชีพในทางสุจริต  เพื่อให้ตนเองมีเงินมีปัจจัยใช้สอย  เป็นของตนเองหรือเพื่อใช้ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัว หรืออาจใช้บริจาคแก่ชุมชน  การเลือกคบผู้ดีผู้มีคุณธรรมเพื่อนที่ดีนั้นก็จะทำให้เราสำเร็จแต่ความรุ่งเรือง  มีคุณธรรมประจำใจ  และทำให้พ่อแม่พี่น้องสังคมหรือคนต่างเคารพนับถือตนเอง  หรือสรรเสริญเราไปในทางที่ดี  และทำให้ตนเองนั้นมีความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งในอาชีพก็ย่อมเจริญ  หรือทำให้เราหาทรัพย์ได้โดยไม่    ฟืดเคือง  และทำให้เรามีหน้าที่ตาในสังคมหรือชุมชน  สมดังสุภาษิตที่ว่า ปฏิรูปการี  ธุรวา  อุฏฺธาตา  วินฺทเต  ธนํ  มีใจความว่า ผู้หมั่นเอาธุระเป็นผู้ทำกิจเหมาะสมแก่กาลเทศะ  การมีความขยันนั้นย่อมหาทรัพย์ได้  เพราะตนเองนั้นได้คบบุคคลที่ดีเพื่อผู้ที่ดีนั่นเอง
          2.  ทาน  หรือการแบ่งปันสิ่งของๆ ตนเองที่ควรให้  หรือเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เสียสละสิ่งของของตนเองให้แก่บุคคลอื่น  และอาจจะเป็นการแนะนำคำสั่งสอนที่ดีแก่คนอื่นเพื่อให้เป็นคนดีประพฤติดีงามตามทำนองคลองทำที่ดี  และสมควร  หรือการให้และบริจาคสิ่งของของตนเองให้แก่ผู้ที่มีฐานะยากจนกว่าตนเอง  เช่น เงิน  เสื้อผ้า  กางเกง  หรือของใช้สอยต่างๆ เพื่อให้บุคคลนั้นนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ดี  และควรจะเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นที่เขามีฐานะที่ด้อยกว่าเรา  มีไมตรีที่ดีต่อกัน  เกื้อกูลซึ่งกันและกัน  มีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน  และคนที่ได้บริจาคทานนั้นก็ภูมิใจที่ตนเองนั้นได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ หรือบริจาคทุนเพื่อใช้ในการสร้างถนนชำรุด สะพานทางสัญจร วัด โรงเรียน  หรืออีกหลายอย่าง  ซึ่งมีประโยชน์ต่อกลุ่มชุมชนบ้านเรือนของตนเอง  และทานที่บริจาคนี้ก็จะทำให้มีประโยชน์ต่อสังคมชุมชนมากมาย  เพราะสังคมแต่ละที่นั้น  ต้องอาศัยการช่วยเหลือประรองดองซึ่งกันและเพื่อให้ชุมชนแต่ละแห่งเจริญรุ่งเรือง หรือการบริจาคทานนั้นแต่ละคนอาจจะใช้กำลังของตนในการบริจาค  เช่น ช่วยสร้างถนน วัด โรงเรียน ฯลฯ
          3.  การสมาธิภาวนา  ในการเจริญสมาธิภาวนานั้นสามารถกระทำได้ทุกท่าน แม้จะไม่ใช่พระก็กระทำได้  และสามารถกระทำได้ทุกที่ทั้งที่วัดที่บ้านของตนเองหรือที่ทำงาน  ซึ่งในการภาวนานั้นก็มีให้ศึกษาอยู่หลายวิธี หลายอิริยาบถ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน การนั่งก็ใช้เท้าขวาทับเท้าซ้าย  และมือขวาทับมือซ้าย  การเดินหรือที่เรียกการเดินจงกรมและการนอนต้องทำจิตใจของตนให้สงบ  และพยายามกำหนดลมหายใจของตนนั้นคือการภาวนา  หายใจเข้าให้นึกคำว่า พุท หายใจออก โธ  และถ้าหากบุคคลท่านใดสามารถกระทำได้นั้นก็จะส่งผลที่ดีต่อตนเอง  ทั้งในตอนที่ตนเองตอนดำรงชีวิตอยู่และในอนาคตต่อไป  หรือการสะสมบุญที่ตนเองได้กระทำในช่วงที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในการเจริญภาวนานั้น ต้องใช้ความพยายาม  ในช่วงแรกต้องฝึกต้องอดทน  เมื่อตนเองฝึกปฏิบัติได้นั้นก็จะส่งผลที่ดีแก่จน  และจิตใจของตนก็ต้องพร้อมปฏิบัติ  คือการไม่คิดถึงเรื่องที่ผ่านมาให้คิดในสิ่งที่ดีงามที่เคยกระทำ  หรือ พุท-โธๆๆ  แต่การเจริญสมาธิภาวนานั้นบางท่านอาจจะคิดว่าง่าย  แต่ในการปฏิบัตินั้นอาจจะไม่เป็นดังที่คิด  เพราะการภาวนานั้นยาก  เพราะแต่ละท่านต้องเรียนรู้และต้องฝึกฝน
          4.  อบายมุข (สุรา) หรือนำเมา  ในน้ำเมาทุกชนิดย่อมมีโทษต่อบุคคลและร่างกายของตนและสังคมหลายประการ เช่น 
               - เสียทรัพย์  เพราะจะเสียทรัพย์สินจากการทำงานหรือรับจ้างที่ได้มานั้น  เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ 
               - เกิดโรค  โรคที่เกิดจากน้ำเมานั้นมีอยู่หลายชนิด และรุนแรงถึงชีวิตและการรักษาก็ลำบากและยาก  เมื่อเกิดแล้วส่วนมากจะเสียชีวิตโดยน้ำเมาหรือประสบอุบัติเหตุ   
               - ไม่รู้จักอาย  เมื่อดื่มเข้าร่างกายแล้วก็อาจจะขาดสติสัมปะชัญญะ  อาจกระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ละอายในสังคมหลายอย่าง  
               - การทะเลาะวิวาท  การดื่มเข้าร่างกายแล้วอาจจะทำให้ผู้ดื่มไม่เกรงกลัวบุคคลใดๆ  และอาจจะกระทำกิริยาที่ไม่ดีพูดจาไม่ดีใส่คนข้างเคียง  และทำให้เกิดการตีกัน หรือทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต  ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง 
               - ต้องถูกตำหนิติเตียน  และในข้อนี้ก็เหมือนในหลายข้อที่กล่าวมา  ซึ่งอาจจะทำให้คนในสังคมระอาหรือรำคาญเช่นส่งเสียงดัง  หรือการร้องเพลงเสียงดังการขับขี่รถที่เสี่ยงดังและประมาท  
               - ทอนกำลังของตนเอง  พละกำลังของตนในร่างกายของแต่ละท่านนั้นส่วนใหญ่แข็งแรง  แต่เมื่อรับน้ำเมาเข้าร่างกายแล้วอาจจะทำให้เสียกำลังในการทำงาน  เพราะผลเสียของน้ำเมาทำให้ไม่มีแรงเคยตื่นแต่เช้ากลับเป็นตื่นสาย  และขี้เกียจทำงานเหมือนเคยปฏิบัติประจำ
          5.  การพนัน  การพนันมีอยู่หลายอย่างซึ่งเป็นอบายมุขที่กระทำกันอยู่ทั่วไป  ซึ่งมีข้อเสียอยู่หลายประการ  เช่น 
               - เมื่อชนะย่อมจะก่อเวร  เมื่อเจ้าของที่เล่นการพนันถ้าหากผู้เล่นหรือตนเองได้เงินหรือปัจจัยของท่านอื่นๆ มาแล้วนั้น  อาจจะทำให้เจ้าของทรัพย์อาจโกรธเคืองตนเพราะเสียดายทรัพย์  และอาจจะขู่ท่านเพื่อเอาทรัพย์คืนหรือาจปล้นท่านคืนก็ได้   
               - เสียทรัพย์  อบายมุขทุกอย่างนั้นไม่ดีต่อทุกคน  และทำให้เสียทรัพย์สินของตนเอง  และเป็นการเสียเวลาในการทำมาหากินเพื่อใช้ในการเลี้ยงชีวิต และครอบครัว สังคม 
               - เป็นที่หมิ่นประมาท  การติดอบายมุขชนิดนี้  เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสังคมและจะถูกคนในชุมชนนินทา  เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี และถูกประณาม  เพราะผู้เล่นอาจจะจี้หรือปล้นลักขโมยของในชุมชนของตน  เพื่อนำมาใช้เล่นการพนัน   
              - เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์  เมื่อตนเองเล่นการพนันแล้ว  และเมื่อตนเองเสียทรัพย์ของตนแล้วก็เสียดายทรัพย์สินของตนเองทั้งนั้น  เพราะทรัพย์สินของตนเองนั้นต้องเสียแรงงานของตนเพื่อแลกมา  และบางท่านก็ทำงานลำบากกว่าจะได้ทรัพย์สินมา  แต่ต้องมาหมดเพราะการพนัน  
              - ไม่มีบุคคลใดเชื่อถ้อยคำ  ถ้าหากผู้เล่นอบายมุขในสิ่งนี้ติดมาก  และเสียทรัพย์สินบ่อย  แต่ยังต้องการที่จะเล่น  และอาจจะยืมเงินบุคคลในชุมชนเพื่อที่จะเล่นในสิ่งที่กล่าวมา  อาจจะไม่คืนเจ้าของทรัพย์หรือบางครั้งอาจหลอกลวงเพื่อนบ้าน  เพื่อที่จะได้ทรัพย์มาเล่นการพนัน 
          หลักในการเจริญเมตตา  คือความต้องการความปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์อื่นๆ อยู่อย่างสงบ  ไม่มีเวร  ไม่มีภัย  ไม่ประทุษร้ายกัน  เพราะทุกชีวิตต่างก็ไม่ต้องการที่จะมีความทุกข์  และไม่ต้องการศัตรู  ต้องการความปรารถนาที่ดีต่อกันและกัน  ความรักความพร้อมสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เมื่อคนอื่นมีความทุกผู้ที่ไม่เป็นทุกข์ควรให้ความช่วยเหลือคนที่เป็นทุกข์  และให้กำลังใจ  แลไม่เมินเฉย  ไม่หนีเอาตัวรอดคนเดียว  และคนที่เป็นทุกข์ก็จะมีความสุข  เกิดความโสมนัส  เกิดความยินดี  และผู้เป็นทุกข์ก็มีจิตใจในการแก่ปัญหาของตน  และความทุกข์ของตนเอง  เพราะได้รับความเมตตาจากคนในชุมชน
ขอเจริญพร


     [1]  พระวีรพงษ์  ยสชาโต/แจ่มใส (กิจ). น.ธ.ตรี, ม.6

ความสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้



ปุญญะกะถา[1]
นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย
ความสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้.
            บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ลิขิตไว้เบื้องต้นพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษา  และนำไปปฏิบัติสืบต่อไป
          คำว่า บุญ  แปลว่า  ธรรมชาติที่ชำระล้างหมายถึง ชำระล้างกิเลส  หมายถึงชำระล้างกิเลสทางกาย  วาจา  และใจ  บ่อเกิดบุญเรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” มี 3 อย่าง คือ
          1.  ทานมัย  บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน  การให้มี 3 อย่าง คือให้ข้าว น้ำ  โภชนาหาร  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค  เรียกว่า  อามิสทาน  การอบรมแนะนำสั่งสอนให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือไม่ดี
          2.  สีลมัย  บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล  รักษากาย  วาจา  ใจ  ให้เรียบร้อย
          3.  ภาวนามัย  บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา  คำว่า ภาวนา  แปลว่าการทำให้มี  ให้เป็น มี 2 อย่าง คือ  ทำใจให้สงบนิ่งด้วยยึดนิมิตอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นอารมณ์เรียกว่า สมถภาวนา  หรือสมถกรรมฐานก็ได้  ถ้าพิจารณารูปนามเป็นอารมณ์  รูปและนามไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ย่อมเปลี่ยนแปรผันอยู่ตลอดเวลา  มีสภาพเป็นทุกข์ทนอยู่ได้ยาก  ยึดถือเป็นตัวตนมิได้  เป็นต้น  เรียกว่า  วิปัสสนาภาวนา  หรือ  วิปัสสนากรรมฐานก็ได้
          ทาน  ศีล  ภาวนา  ทั้ง 3 ทานมีหน้าที่กำจัดกิเลส  ศีลมีหน้าที่กำจัดความโกรธ ภาวนามีหน้าที่กำจัดโมหะความโง่เขลา
          ฉะนั้น  ทาน  ศีล  ภาวนา  จึงเป็นเครื่องชำระล้างกิเลส 3 อย่าง  กล่าวคือท่าน  ชำระล้างความโลภ  ศีล  ชำระล้างความโกรธ  และภาวนา  ชำระล้างความหลง  ชำระล้างกิเลสออกจากจิตใจทุกวัน  จิตใจก็บริสุทธิ์สะอาด  จิตใจก็มั่นคงไม่หวาดระแวงต่อภัยต่างๆ ความสุขก็จะบังเกิด  มีแก่จิตใจอยู่ตลอดเวลา  เพราะบุญอยู่ที่ใจ  บุญเป็นสมบัติส่วนบุคคล  ถ้าใครทำไว้คนนั้นก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของบุญนั้น  ไม่ฉิบหายด้วยภัยนานาประการ  สมดังพุทธสุภาษิตที่มาในสังยุตตนิกาย  สคาถวรรคว่า
ปุญฺญํ  โจเรหิ  ทูหรํ
บุญอันโจรนำไปไม่ได้.
          ถ้าใครทำบุญไว้แล้วเปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์คือบุญจะติดตัวตามไปเหมือนเงาติดตามตัว  เพื่อไปเกิดในภพที่ดีเป็นคนมั่งมีศรีสุขในชาติหน้า
          สรุปความว่า  คนทุกคนควรทำบุญไว้บุญนำสุขมาให้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ผู้มีบุญมีอายุยืนยาว  มีสุขกายสุขใจ  สมดังกระทู้สุภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า
สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย
ความสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้
ดังอรรถาธิบายมา  เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ


     [1] พระธนทร  วรธมฺโม/อมรธำรงโชติ (เพ็ง). อายุ 33 พรรษา 1 น.ธ.ตรี, ม.6 (ชาวกรุงเทพฯ)

คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร



วิริยะกะถา[1]
นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ.
คนจะล่วงทุกข์ได้  เพราะความเพียร.
          บัดนี้  จัดได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น  พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติ  เป็นลำดับต่อไป
          คำว่าทุกข์  คือสภาพที่บีบคั้นเบียดเบียน  มีความลำบากไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  มีความคับแคบใจอันมีเหตุมาจากความไม่สมปรารถนา  ไม่ได้ดังใจ  ได้สิ่งของบางอย่างมาแล้วไม่ถูกใจ  ตลอดถึงการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ  เป็นเหตุแห่งความทุกข์เป็นความลำบาก  กล่าวโดยที่สุดพระพุทธเจ้าตรัสว่า  สังขารร่างกายนี้ก็เป็นทุกข์  ฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ความทุกข์เป็นความจริง  เป็นทุกข์อริยสัจ  ความทุกข์นี้มีมาประจำกับตัวเราแล้วตั้งแต่เกิด  มีความลำบากในการที่จะเลี้ยงชีพ  ทั้งตัวเองและคนอื่น  แม้การศึกษาเล่าเรียนของเรานี้ก็เหมือนกัน คือเป็นทุกข์  เป็นความลำบาก  แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาสั่งสอนให้พวกเรามองให้เห็นความทุกข์  และก็ให้ยอมรับว่ามันมีอยู่จริง  ไม่ให้จมปลักอยู่กับมันไม่ให้เศร้าโศกและเสียใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์  พระพุทธองค์ทรงสอนให้หาทางหนีจากทุกข์ หาทางแก้ทุกข์  เพื่อที่จะให้มีความทุกข์น้อยลงให้มีความสุขตามปกติที่ใจมุ่งหวัง
          การจะหนีจากความทุกข์หาทางแก้ทุกข์นั้นพระองค์ก็ทรงสอนให้มีความเพียรก็คือ  ประการแรกเพียรพยายามไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่เรา  ประการที่สอง  เพียรละสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่ความสุขของเรา  ประการที่สาม  เพียรพยายามทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์แก่เรา  และประการที่สี่  เพียรรักษาความดีสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในตัวเรา  ให้คงอยู่ต่อไป  นี้คือทางที่จะแก้ความทุกข์  ทางที่จะพ้นจากความทุกข์  ความเพียรสี่ประการนี้เป็นสิ่งที่คนเราสามารถที่จะทำได้  เพราะว่ามนุษย์เป็นผู้มีความคิด  มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าสัตว์เหล่าอื่น  สมดังพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ธัมมปทคาถาว่า
ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ
ในหมู่มนุษย์  ผู้ฝึกตนได้แล้ว  เป็นผู้ประเสริฐ.
          แสดงว่ามนุษย์เรานี้  เป็นผู้ฝึกฝนตนเองได้  ด้วยความเพียรพยายามของตัวเขาเองในการศึกษาเล่าเรียนของเรานี้ก็เช่นกัน  กว่าที่เราจะจบมาได้แต่ละชั้นก็มีความลำบาก  และยิ่งในการที่เราจบมีเกรดที่ดีแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย  เราต้องใช้ความเพียรพยายามฝึกฝนตนเองหมั่นศึกษาค้นคว้า  ละสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเรา เอาใจใส่ในงานที่ครูอาจารย์มอบหมายให้  ไม่เกียจคร้าน  เมื่อเราหมั่นขยันอดทนฝึกฝนอยู่อย่างนี้  ก็จะเห็นได้ว่าความยากลำบากเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องยาก  เราก็จะได้รับผลสำเร็จในการศึกษา  และภาคภูมิใจในตัวของเรา  ไม่เฉพาะตัวเรา  แม้คนอื่นก็จะยกย่องสรรเสริญว่าเป็นเด็กดี  หรือเป็นผู้ประเสริฐ  ถ้าหากขาดการฝึกฝน  แล้วไซร้จะกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลผู้ประเสริฐก็หาไม่จะเป็นคนดีได้อย่างไร
          สรุปความว่า  ความทุกข์  ความลำบากของมนุษย์ต่างๆ นานาของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถจะเอาชนะได้  สามารถบรรลุความสุข  ผ่านความทุกข์นั้นได้  ก็เพราะความเพียรดังที่กล่าวมาว่า  ประการแรกเพียรสังวรระวังไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่ตัวเรา  ประการที่สองเพียรละสิ่งที่ไม่ดีนั้น  ประการที่สามเพียรสั่งสมความดีหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา  และประการที่สี่  เพียรรักษาความดีนั้นไว้ให้อยู่กับตัวเรานาน ๆ เมื่อฝึกตนเองได้แล้วก็จะเป็นคนที่มีแต่สวัสดีภาพ  เป็นผู้ประเสริฐ  สมดังนัยพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้  ณ เบื้องต้นนั้นว่า
วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ
คนจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร.
          ดังมีอรรถาธิบายมาแล้ว  เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ


        [1] พระราชันย์  พุทธสโร/ธุนาบาล (ป๊อก). น.ธ.ตรี, วท.บ. (เกษตรศาสตร์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง