วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปกิณกะวินัยที่พระสงฆ์ควรเรียนรู้

ตัวอย่างแผนการจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรม สำนักปฏิบัติธรรมวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร

ตัวอย่างตารางกิจกรรมการอบรมคุณธรรมจริยธรรม สำนักปฏิบัติธรรมวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด

โลกธรรม ๘ ประการ

ธัมมะฐิตะกถา

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โลโกศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุรินทร์แห่งที่ ๓ ธรรมยุต วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร


แบบสี


แบบขาวดำ

การปฏิบัติตนของโยคาวจร

                จกฺขุมสฺส  ยถา  อนฺโธ             โสตา  พธิโร  ยถา
                ชิวฺหามสฺส  ยถา  มูโค             พลวา  ทุพฺพโลริว
                อถ  อตฺเถ  สมุปฺปนฺเน             สเยถ  ปุตฺตสายิกํ.
        ธรรมดาผู้ปฏิบัติธรรม มีตาดีก็ให้ทำเหมือนคนตาบอด  มีหูดีก็ให้ทำเหมือนคนหูหนวก  มีลิ้นเจรจาได้ก็ให้ทำเหมือนคนใบ้  มีกำลังแข็งแรงก็ให้ทำเหมือนคนแก่ทุพพลภาพ  ครั้นมีเรื่องราวบังเกิดขึ้น  ก็พึงนอนให้สบายเสีย  ดังหนึ่งว่า มารดากกบุตรให้นอนหลับอย่างเป็นสุข ฉะนั้น.
พระอนุรุทธเถระสอนไว้ว่า
              ยถาปิ  เขตฺเต  ปริสุทฺเธ            พีชญฺจสฺส  ปติฏฺฐตํ
                โหติ  วิปุลํ  ผลนฺตสฺส           ปริโตเสติ  กสฺสโก
                ตเถว  โยคินา  จิตฺตํ           สุญฺญาคาเร  วิโสธิตํ
                สติปฏฺฐานเขตฺตวเร              ขิปฺปเมว  วิรุหติ.
        พืชที่หว่านลงในเนื้อนาที่ดี  บริสุทธิ์  เป็นที่งอกงาม  ย่อมมีเมล็ดผลไพบูลย์ให้แก่เจ้าของนาได้ชื่นชม  ยินดี  ฉันใด  ท่านผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องชำระจิตให้สะอาดในที่อันสงัดแล้ว  ย่อมเจริญงอกงามในเนื้อนาอันประเสริฐ  คือสติปัฏฐานโดยเร็วพลัน  ดุจพืช  ฉันนั้น.
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร (๑๕/๒๑,๙๗/๑๕,๖๒ มจร.) ว่า
                โกจิ  ภิกฺขเว  ภิกฺขุโน  โคจโร  สโก  เมตฺติโก  วิสโย  ยทิทํ  จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา.
        ดูกร  ภิกษุ ท. ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร  ธรรมอะไรๆ ที่เป็นโคจรของภิกษุ  เป็นอมตมรดกดั้งเดิมของมารดา  โคจรคืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่สติปัฏฐาน.
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วิ.มหา. ๕/๒๘๗/๖๕ และ ที.มหา. ๑๐/๑๕๕/๘๒ มจร. ว่า
                   จตุนฺนํ  อริยสจฺจานํ                ยถาภูตํ  อทสฺสนํ
                       สํสริตํ  ทีฆมทฺธานํ                ตาสุตาเสว  ชาตีสุ.

        การที่เรา ท. ได้พากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารยืดยาวนานจนนับชาติไม่ถ้วน  ทั้งนี้ก็เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง.

หน้าที่ของชาวพุทธ

หน้าที่ของชาวพุทธ (โดยย่อ)
๑.   คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมต่างๆ ทั้งจากคัมภีร์ บุคคล ตัวเอง
๒.   วิปัสสนาธุระ  ได้แก่การลงมือปฏิบัติตามหลักธรรม หรือหลักทฤษฎีที่ตนศึกษามา
วิถีทางแห่งชีวิต
เส้นทางที่ ๑   ไปนรก  เพราะอารมณ์โทสะ
เส้นทางที่ ๒   ไปเปรต อสุรกาย  เพราะโลภะ
เส้นทางที่ ๓   ไปสัตว์ดิรัจฉาน เพราะโมหะ
เส้นทางที่ ๔   ไปมนุษย์  เพราะศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐
เส้นทางที่ ๕   ไปสวรรค์ เพราะมหากุศลจิต ๘ ดวง  มีหิริ และโอตตัปปะ เป็นหัวหน้า
เส้นทางที่ ๖   ไปพรหมโลก ๒๐ ชั้น  เพราะเจริญสมถะ ๔๐ จนได้บรรลุปฐมฌานไป
เส้นทางที่ ๗   ไปนิพพาน  เพราะเจริญวิปัสสนาขั้นปรมัตถ์  มี รูป-นาม เป็นอารมณ์
วิธีบรรเทาความโกรธ
        ๑.   โยนิโสมนสิกาโร  ทำไว้ในใจโดยอุบายที่แยบคาย
        ๒.   เมตฺตา  เจริญเมตตาจนได้ฌาน
        ๓.   เจโตวิมุตฺติ  เจริญภาวนาจนจิตหลุดพ้น
        ๔.   เมตฺตานิมิตฺตสฺส  อุคฺคโห  เรียนวิธีแผ่เมตตา
        ๕.   เมตฺตาภาวนานุโยโค  ภาวนาบ่อยๆ
        ๖.   กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกฺขณา  พิจารณากรรมของตน
        ๗.   ปฏิสงฺขานพหุลีกตา  พิจารณากรรมของตนและผู้อื่นให้บ่อยๆ
        ๘.   กลฺยาณมิตฺตตา  คบแต่คนดี
        ๙.   สปฺปายกถา  สนทนาคำที่ดี  ก่อให้เกิดเมตตา

ลักษณะของกัลยาณมิตร
๑.   สทฺธาสมฺปนฺโน   ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
        ๒.   สีลสมฺปนฺโน      ถึงพร้อมด้วยศีล
                ๓.   สุตาสมฺปนฺโน    ถึงพร้อมด้วยสุตะ (การฟัง)
                        ๔.   จาคสมฺปนฺโน     ถึงพร้อมด้วยจาคะ
                        ๕.   วิริยสมฺปนฺโน     ถึงพร้อมด้วยความเพียร
                ๖.   สติสมฺปนฺโน      ถึงพร้อมด้วยสติ
        ๗.   สมาธิสมฺปนฺโน   ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
๘.   ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา

ลักษณะของสัตตบุรุษ
                        ๑. รู้เหตุ      
                                ๒. รู้ตน               
                                        ๓. รู้ประมาณ 
                                                ๔. รู้กาล      
                                                        ๕. รู้ประชุม   
                                                                ๖. รู้จักเลือกคบบุคคล
                                                                        ๗. รู้จักศรัทธา

นิวรณ์
        “เวยฺยคฺคปญฺจมํ  หนฺตวา  อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ.  แปลว่า ผู้ใดฆ่านิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์  เช่นกันกับหนทางที่เสือโครงเที่ยวไปเป็นที่ ๕ ได้แล้ว  ผู้นั้นเป็นผู้ลอยบาป  ละบาปได้  ไม่มีทุกข์ ไปอยู่ ดังนี้.”
        นิวรณ์ คือธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง  มี ๕ อย่าง คือ
        ๑.   กามฉันทะ               พอใจในกามคุณ ๕
        ๒.   พยาบาท                ปองร้ายผู้อื่น
        ๓.   ถีนมิทธะ                 ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
        ๔.   อุทถัจจะกุกกุจจะ                ฟุ้งซ่านรำคาญ
        ๕.   วิจิกิจฉา                 ลังเลสงสัย

คุณธรรมที่ละความสงสัยได้
๑.  พหุสฺสุตา                  ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก
๒.  ปริปุจฺฉกตา              เป็นผู้หมั่นสอบถาม
๓.  วินเย  ปกตญฺญุตา       เป็นชำนาญในพระวินัย
๔.  อธิโมกฺขพหุลตา          เชื่อมั่นในทางที่ดี
๕.  กลฺยาณมิตฺตตา           สมาคมกับคนดี
๖.  สปฺปายกถา               สนทนาธรรมที่สบาย
๗.  กุสลาทิโยนิโสมนสิกาโร          สนใจอุบายที่แยบคาย



กิเลส ๑๐ (หยาบ, กลาง, ละเอียด)
๑.  โลภะ
        ๒.  โทสะ
๓.  โมหะ
๔.  มานะ
                                ๕.  ทิฏฐิ
                                        ๖.  วิจิกิจฉา
                                                ๗.  ถีนะ  คืออาการท้อใจ
                                        ๘.  อุทธัจจะ  คืออาการฟุ้งซ่าน
                                ๙.  อหิริกะ
                        ๑๐.  อโนตตัปปะ

สังโยชน์ ๑๐
๑.   สกฺกายทิฏฺฐิ
        ๒.  วิจิกิจฉา
                ๓.  สีลัพพตปรามาส
                        ๔.  กามราคะ
                                ๕.  ปฏิฆะ
                                        ๖.  รูปราคะ
                                                ๗.  อรูปราคะ
                                                        ๘.  มานะ
                                                                ๙.  อุทธัจจะ

                                                                        ๑๐.  อวิชชา

พฤติกรรมที่นำไปสู่เปตวิสยภูมิ

      นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะฯ  :   ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยอันเป็นฉัตรแก้ว  ดั่งร่มโพธิ์ทอง
                                       ปกคลุมทั่วไตรภพ ได้นำพาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย  ให้รอดพ้นจาก
                                       ทะเลเพลิงแห่งทุกข์
           ขอถวายความเคารพ  :    แด่พระเดชพระคุณท่าน  พระครูโสภณธรรมรังสี  ผู้เป็นประธานสงฆ์
               ขอเจริญไมตรีจิต  :    แด่เพื่อนสหธรรมิกทุกรูป  ตลอดจนแม่ชีทุกคน และ

ขอความสุขความเจริญในธรรม  :   จงมีแด่สาธุชนทั้งหลายโดยทั่วหน้ากัน
          ก่อนเที่ยงคืนวันนี้ (๒๔.๐๐ น.) สาธุชนทั้งหลาย ผู้เป็นสามี ภริยา บุตร ธิดา หรือเป็นพ่อแม่ในขณะนี้ ท่านได้จองตั๋วที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถทัวร์ รถล่อง (รถตู้โดยสารระหว่างจังหวัด) หรือเที่ยวบินภายในประเทศ ไกลหน่อยก็ต่างประเทศ ชั้นธุรกิจ ชั้นธรรมดา มีทุกสายการบิน เช่นการบินไทย นกแอร์ แอร์เอเชีย เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งไว้หรือยัง เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายตามคติความเชื่อของคนโบราณว่า :-
“ญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้ว ไปสู่โลกแห่งวิญญาณ เสวยความเผ็ดร้อนแห่งวิบากกรรมในเปรตภูมิ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เปรตเหล่านั้นจะได้รับการปล่อยให้มาสู่เรือนญาติของตน จนกระทั้งวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ จึงจะได้กลับ”
ความหมายวันสารท
๑๕
          วันนี้เป็นวันสารทใหญ่ เป็นบุญประเพณียิ่งใหญ่ที่ทรงคุณค่า สำหรับคนไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  ประกอบด้วยจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และในบางอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ที่ ๔ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ [๖ ฯ ๑๐] สารท [อ่านว่า สาด] เป็นคำนาม บาลีมีรูปศัพท์ว่า สรท หรือ สารท  สันสกฤตมีรูปศัพท์ว่า ศารท ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า คือเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน ๑๐ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์  และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์  สำหรับชาวสุรินทร์นั้น นิยมนำข้าวใหม่มาทำเป็นข้าวต้มมัด และมีข้าวของหลายอย่างที่สามารถรับประทานได้ โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่หนึ่งสำหรับเซ่นไหว้ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไปแล้ว  ส่วนที่สองเตรียมไว้ให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ (จูนกัญจือ) เช่นคุณพ่อหรือคุณแม่ กรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้วก็ส่งพี่คนโตแทน  ฉะนั้น กิจกรรมวันนี้บางพื้นที่จะมีพิธีแย่งเปรต (แย่งข้าวกระยาสารท ข้าวต้ม ขนม นม เนย ที่ญาตินำไปที่วัด) ใครมีแรงเยอะก็สามารถแย่งได้มาก ของที่แย่งมาได้นิยมนำไปทิ้งไว้ตามมุมบ้าน ตามสี่แยก เพื่อให้เปรตทั้งหลายได้กิน แต่สำหรับท้องถิ่นที่ความเจริญเข้ามามากแล้ว เช่นชุมชนในเมืองหรือในวัดป่าโยธาประสิทธิ์นี้ หลังจากเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษแล้ว เช้าแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็จะนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญที่วัด ถ้ามีข้าวต้มหรือขนมกระยาสารทเยอะก็แบ่งกันนำไปรับประทานที่บ้านอย่างทั่วถึงกัน  จากบุญประเพณีดังกล่าวนี้  อาตมภาพมีทัศนคติว่า นี่คือการซื้อตั๋ว เพื่อนำส่งดวงวิญญาณของญาติๆ ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล คือกำลังแห่งการกระทำของตนว่า ผู้ใดจะมีปัญญามองเห็นแนวทางแห่งบุญได้มากน้อยเพียงใด ญาติของเราก็สามารถรับรู้รับทราบถึงการกระทำของเราได้เพียงนั้น
ลักษณะความเชื่อเกี่ยวกับวันสารท
          วันสารท เป็นบุญประเพณีหนึ่งใน บุญ ๑๒ เดือน ของคนอีสานและคนลาวที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง ซึ่งเป็นช่วงที่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้มาก  นำมาประกอบเป็นอาหาร ขนม  ข้าว ปลา  เป็นจำนวนมากเป็นวันที่มีความเกี่ยวข้องกับวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ซึ่งมุ่งเฉพาะเปตตะวิสัยเท่านั้น ไม่มีกล่าวถึงอย่างอื่น แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีคติความเชื่อเรื่องผีอย่างคนไทยเชื้อสายเขมร และเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา มีคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณของปู่ย่า-ตายาย หรือญาติมิตรของตนที่ได้ตายจากโลกนี้ไป  ซึ่งความเชื่อในลักษณะเช่นนี้มีปรากฏเกือบทุกภูมิภาคและทุกเชื้อชาติ อย่างชาวจีนก็เรียกว่าวันตรุษจีน คนไทยก็เรียกว่าวันสารท  คนไทยเชื้อสายเขมรก็เรียกว่าวันแซนโฎนตา จากบุญประเพณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณเมื่อหลายพันปีที่พยายามแสวงหาที่พึ่งทางจิตใจ  ในยุคต้นๆ นั้นพุทธศาสนายังไม่เกิดขึ้น  แต่พราหมณ์อาจจะมีแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย  ดังนั้น ศาสนาแบบชาวบ้านจึงมีบทบาทสำคัญ โดยการยึดถือแบบอย่างจากคนรุ่นก่อน แม้ตายไปแล้วก็มีการยกย่องเทิดทูลดวงวิญญาณของผู้นั้น  และมีทัศนะว่าการบ่วงสรวงเซ่นไหว้ต่างๆ (เหมือนการบูชายัญแต่ไม่ใช่เลยทีเดียว) วิญญาณผู้ตายจะได้รับ ได้กิน จะเห็นว่า สวรรค์  นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เปรต ยังไม่มีบทบาทมากนักกับคนโบราณ  แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญจากชมพูทวีปสู่อุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ส่งผลให้ระบบความเชื่อแบบคนโบราณเริ่มเปลี่ยน  โดยเริ่มมองเห็นว่าการกระทำของตนที่แสดงออกนั้นไม่ใช่วิธีการที่ทำให้ดวงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้วได้รับส่วนบุญ (แต่ก็มีวิญญาณและสิ่งมีชีวิตบางจำพวกได้รับ คือจำพวกสัมภเวสี  สัตว์เดรัจฉาน  และอสูรกาย ที่มีอยู่บริเวณนั้น) จากบทบาทนี้ได้ลบล้างและรื้อถอนระบบความเชื่อแบบเดิมออก  บางอย่างก็ต้องยอมรับว่าระบบความเชื่อแบบเดิมสามารถทำให้ระบบสังคมเหนี่ยวแน่นมีความสามัคคี  แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาพร้อมกับหลักความเป็นจริงแท้แห่งปัญญา  ซึ่งทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ จุดประกายแห่งปัญญานี้เปรียบเสมือนหลักวิทยาศาสตร์กับหลักความเชื่อแบบเดิม หมายถึงวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้  ส่วนความเชื่อบางอย่างยังพิสูจน์ไม่ได้  แต่ก็ไม่ค้านไปเสียทั้งหมด ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงเป็นที่มาของความงามแห่งลีลาการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับวันสารทอย่างไร
        สาธุชนทั้งหลาย เมื่อมีบุคคลอันเป็นรักของเราได้ตายจากไป  ทุกคนมักมีความเชื่อพื้นฐานว่า “ญาติของเราต้องไปดี คือได้ไปเกิดบนสวรรค์” ถ้าเรามีความเชื่อในลักษณะแบบนี้ก็เสี่ยงกับการที่จะเป็นคนหลง  แต่ถ้ามีความเชื่อว่า “คนที่ทำความดีต้องได้ไปสวรรค์ และคนที่ไม่ทำดีเป็นคนชั่วเท่านั้นจึงจะตกนรก” ก็นับว่ามีปัญญาอยู่บ้างในระดับหนึ่ง  คำว่า “ปรโลก” คือโลกหน้าจากมนุษย์โลกนี้ที่ทุกคนต้องไป มี พรหมโลกสำหรับผู้ที่บำเพ็ญฌานสมาบัติ  สวรรค์มัคคาโลกสำหรับผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา  มนุสสโลกสำหรับผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา และนรกโลกสำหรับผู้มีโลภ โกรธ หลง ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า สังสารวัฏฏ์ คือภพภูมิที่มนุษย์ผู้ยังมีกิเลสจะต้องเวียนว่ายตายเกิด ตามคติพุทธมีบัญญัติไว้ ๓๑ ภูมิ ประกอบด้วย
          ๑.   โลกเบื้องสูงมีปฐมฌานภูมิ ๓, ทุติยฌานภูมิ ๓, ตติยฌานภูมิ ๓, และพรหมภูมิตั้งแต่ชั้นที่ ๑๐-๒๐ ซึ่งแต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์[๑]
          ๒.   โลกเบื้องกลางมี เทวภูมิ ๖ กับโลกมนุษย์ ๑  ซึ่งแต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๔๒,๐๐๐ โยชน์
          ๓.   โลกเบื้องต่ำมี นรกภูมิ  มี ๔๕๗ ขุม คือ มหานรก ๘ ขุม, อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม, ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม และโลกันตรนรก ๑ ขุม เดรัจฉานภูมิ อยู่ร่วมกับโลกมนุษย์ มีความยินดี ๓ ประการ คือ กิน นอน และสืบพันธุ์ มี ๔ ประเภท คือ อปทติรัจฉาน (ไม่มีขา) ทวิปทติรัจฉาน (มี ๒ ขา) จตุปทติรัจฉาน (มี ๔ ขา) และพหุปทติรัจฉาน (มีมากกว่า ๔ ขา) ซึ่งมีอายุไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับกรรมนำไปเกิด เปตภูมิ  คือโลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลความสุข มี ๔ ประเภท ๑๒ ชนิด ๒๑ จำพวก  มีอายุไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม อสุรกายภูมิ คือภูมิที่ปราศจากความเป็นอิสระ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือเทวอสุรา มี ๖ จำพวก, เปตติอสุรา มี ๓ จำพวก, นิรยอสุรา เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาในนรกโลกันตร์ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจักรวาลทั้งสาม มีอายุเหมือนเปรต
เปรตจัดอยู่ในอบายภูมิ ๔
          สำหรับวันนี้อาตมภาพขอหยิบเอาเรื่องเปตติวิสยภูมิขึ้นมาบรรยาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สาธุชนทั้งหลายได้ทราบ และเข้าใจ ตลอดทั้งได้มีการตระหนักถึงบทบาทการดำเนินชีวิตของตนในแต่ละวันบนพื้นฐานของความไม่ประมาท เป็นการป้องกันตนไม่ให้ตกไปสู่เปตติวิสยภูมิ  และที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาลวันสารทใหญ่นี้ด้วย  หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมไม่นำเรื่องเปรตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารมาบรรยาย ซึ่งมีเนื้อหาตรงมากที่สุด  ก็ต้องขอชี้แจงเลยว่า “ถูกต้องเลยทีเดียว”  แต่ประสงค์จะพูดถึงแง่มุมอื่นบ้าง  เพื่อเป็นการเสริมปัญญา  และเป็นคติให้สาธุชนทั้งหลายได้ถือเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติ และอีกอย่างถ้าบรรยายแต่เรื่องเดิมๆ ก็ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรมากนัก แผ่นฟิล์มถูกใช้งานบ่อยจนเสื่อมสภาพ
         อบายภูมิ เป็นสถานที่สิงสถิตของชีวิตหลังความตายในปรโลกฝ่ายทุคติ เป็นดินแดนที่ปราศจาก ความสุข และเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทั้งจากความร้อนของไฟนรก และจากการทรมานของนายนิรยบาล ที่มีวิธีการลงโทษหลากหลายไม่ซ้ำรูปแบบ ทำให้สัตว์นรกได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานสุดจะบรรยาย  ชาวโลกทั้งหลายเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ประกอบกุศลกรรม ทำแต่อกุศลกรรมเป็นประจำ ครั้นเมื่อใกล้จะละโลก ภาพไม่ดีที่ตนได้กระทำไว้มาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตของเขาเศร้าหมอง เมื่อละจากอัตภาพมนุษย์ ย่อมไปเกิดในอบาย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพาลบัณฑิตสูตร ว่า        
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั่นแล ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์ ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก"
          เปตติวิสยภูมิ หรือ ภูมิเปรต จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 2 เป็นดินแดนที่มีแต่ความเดือดร้อน อดอยาก หิวกระหาย ไม่มีการค้าขาย,  ไม่มีกสิกรรม, การเลี้ยงสัตว์, ไม่มีร้านค้า Saven 7, Bic C, Makcro Lotos  มีพุทธพจน์ที่มีปรากฏในมหาสีหนาทสูตรว่า
        “เปรตภูมิเปรียบเหมือนต้นไม้ที่อยู่บนพื้นที่เป็นคลื่น  มีใบอ่อนและใบแก่เพียงน้อย มีเงาป้องแดดไม่มาก ไม่อาจทำความร่มเย็นให้กับผู้กำลังร้อน เหนื่อย และหิวกระหายสักเท่าใด ถ้าเดินอยู่บนทางที่จะนำตรงมาสู่ต้นไม้นี้ได้ ในที่สุดเขาก็จะพักนั่งนอนอย่างไม่เป็นสุข กับทั้งยังหิวกระหายไม่เลิก”
ความหมายของเปรตและประเภทของเปรต
        เปรต (สันสกฤต: प्रेत เปฺรต; บาลี: peta เปต) แปลว่า ผู้ล่วงลับหรือผู้ตายไปแล้ว ในทางพุทธศาสนาหมายถึง อมนุษย์ เปรตที่ปรากฏในคัมภีร์มีการแบ่งประเภทตามชนิดและลักษณะที่ปรากฏ ได้ดังนี้
          แบ่งตามเปตวัตถุอรรถกถา ได้ ๔ ประเภท คือ :-
                ๑.  ปรทัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ จากอาหารที่มีมนุษย์ให้ เช่น การเซ่นไหว้ เป็นต้น
                ๒.  ขุปปีปาสิกเปรต คือ เปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหยอยู่เป็นนิจ
                ๓.  นิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
                ๔.  กาลกัญจิกเปรต คือ เปรตในจำพวกอสุรกาย
          แบ่งตามคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์ ได้ ๑๒ ชนิด คือ :-
                ๑.  วันตาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
                ๒.  กุณปาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
                ๓.  คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร
                ๔.  อัคคิชาลมุขเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกทั่วในปากตลอดเวลา
                ๕.  สุจิมุขเปรต คือ เปรตที่มีปากเท่าเล็กขนาดเท่ารูเข็ม
                ๖.  ตัณหัฏฏิตเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนจนเกิดทุกข์จากความหิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
                ๗.  สุนิชฌามกเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา
                ๘.  สุตตังคเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมราวกับมีด
                ๙.  ปัพพตังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าขนาดของภูเขา
              ๑๐.  อชครังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายราวกับงูเหลือม
              ๑๑.  เวมานิกเปรต คือ เปรตที่ต้องเสวยสุขเป็นเทวดาเฉพาะในเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืนได้ไปเสวยทุกข์เป็นเปรตกินเนื้อตัวเอง
              ๑๒.  มหิทธิกเปรต คือ เปรตที่ถวายสิ่งของให้แก่พระสงฆ์ไม่ว่าจะเป็น ช้าง ม้า หรือเกวียน ซึ่งเป็นการถวายเพื่อเอาหน้าแต่ลับหลังขอคืน  เมื่อตายไปเป็นเปรตที่ขี่ช้าง ม้า ไม่ก็นั่งเกวียน
แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี  ได้ ๒๑ จำพวก คือ :-
                ๑.  อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ
                ๒.  มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ
                ๓.  มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
                ๔.  นิจฉวิปริสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
                ๕.  อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
                ๖.  สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก
                ๗.  อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
                ๘.  สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
                ๙.  ทุติยสูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
              ๑๐.  กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
              ๑๑.  คูถกูปนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
              ๑๒.  คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ
              ๑๓.  นิจฉวิตกิเปรต คือ เปรตหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
              ๑๔.  ทุคคันธเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
              ๑๕.  โอคิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
              ๑๖.  อลิสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ
              ๑๗.  ภิกขุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ
              ๑๘.  ภิกขุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภิกษุณี
              ๑๙.  สิกขมานเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิกขมานา
              ๒๐.  สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร
              ๒๑.  สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี
        เปรตที่มีการกล่าวขานถึงมากที่สุด  คือเปรตที่จัดแบ่งตามมติของคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และฉคติทีปนีปกรณ์ ๑๒ ชนิด  ตามทัศนะของอาตมภาพจากการศึกษาค้นคว้าพอจะสามารถสรุปได้ว่า เปรตนั้นมีหลายลักษณะ  แต่ละลักษณะก็จะมีต้นสายปลายเหตุที่แตกต่างกันออกไป และลักษณะการให้ผลของกรรมก็แตกต่างกันไป เปรตประเภทปรทัตตุปชีวิกก็เป็นอีกชนิดที่มีการกล่าวถึงมาก เพราะมีตัวอย่างปรากฏที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเปรตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ที่มีแสดงให้ปรากฏเพื่อจะขอรับส่วนบุญจากการทำบุญใหญ่ ครั้งถวายวัดเวฬุวันมหาวิหารซึ่งเป็นปฐมสังฆารามในพุทธศาสนา
สาเหตุและลักษณะบุพกรรมของเปรต
        เหตุที่ทำให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วเกิดเป็นเปรตได้นั้น  ต้องอาศัยความพากเพียรมากทีเดียวกว่าจะเลือกที่จะไปเกิดในภูมินี้ได้  เพราะต้องทำอกุศลกรรมประเภทต่างๆ เช่นมีความตระหนี่ โลภมาก มีความโกรธ ความอิจฉาริษยา ต่อทรัพย์สินและต่อบุคคลอื่น  ความโลภที่เจือด้วยความตระหนี่ก็ให้เกิดความหวงแหนในทรัพย์สินเงินทองและข้าวของต่างๆ ของตน  จนไม่กล้าแม้จะสละเพียงเล็กน้อย  การไปเกิดเป็นเปรตนั้นมาจาก ๒ สถาน คือ ๑) มาจากมนุษย์โลกนี้แหละ ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ประกอบคุณงามความดีเท่าที่ควร  เป็นคนประมาท  ขาดสติ โลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน เมื่อตายไปก็มาเกิดเป็นเปรต ๒) ตายไปแล้วได้ไปตกนรกอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่ง คือมหานรก ๘ ขุม, อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม, และยมโลก ๓๒๐ ขุม (แต่ละขุมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎก หรือจากคัมภีร์
         แต่ถ้าประกอบกรรมดีอยู่เป็นนิตย์ ก็ยากที่จะไปเกิดในภพภูมินี้ได้  แต่เมื่อใดที่ยกมองไม่เห็นกรรมดีของตนที่เคยกระทำไว้ แน่นอนว่าเปตวิสยภูมิเป็นอันหวังได้ ในการกล่าวถึงบุพกรรมของเปรตนี้  อาตมภาพขอยกเฉพาะเปรต ๑๒ ชนิด มาอธิบายเท่านั้น เพราะมีการกล่าวถึงมากที่สุด และเป็นอุทาหรณ์ให้กับท่านทั้งหลายได้ดังจะได้อรรถาธิบายต่อไปนี้
        ๑.  วันตาสเปรต เป็นเปรตที่กินน้ำลายเป็นอาหาร ตามศัพท์ วันตาสะ แยกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ๑) วนฺต แปลว่า น้ำลาย  ๒) อาส แปลว่า ปรารถนา หรือกิน  แต่ในที่นี้มีความหมายว่า กินและเมื่อรวมคำกับเปรตจึงแปลว่า เปรตกินน้ำลายจะคอยกินแต่น้ำมูก น้ำลาย เสลด เสมหะ อาหารที่คนสำรอกทิ้งเท่านั้น ไม่สามารถกินอาหารอย่างอื่นได้
         กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติก่อนเป็นคนตระหนี่  เห็นคนเดินทางไกลมาเกิดความหิว จึงเข้ามาขออาหารหรือเศษอาหาร  แทนที่จะแบ่งปันให้บ้างกลับด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่นพวกแกจงไปกินของโสโครก น้ำลาย น้ำมูก คูถ (อุจจาระ) มูตร (ปัสสาวะ) โน่นซะ จะมากินอะไรข้าวน้ำที่นี่พูดจบแล้วถุยน้ำลายลงพื้นจากไป  ด้วยวจีกรรมชั่วนี้ก็ทำให้ไปเกิดเป็นเปรตที่ไม่ได้กินอาหารอื่นใดนอกจากของโสโครก เช่น น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น
        ๒.  กุณปขาทาเปรต  เป็นเปรตมีชีวิตอยู่ได้เพราะซอกซอนหาซากอสุภะกินเป็นอาหาร เช่นซากศพ ด้วยความหิวโหย ครั้นเห็นซากอสุภะของสัตว์ที่ล้มตาย กลายเป็นศพอืดเน่าเหม็น เปรตเหล่านี้จะดีอกดีใจวิ่งเข้าไปดูดโอชะที่เน่าเหม็นจากซากอสุภะนั้น
         กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติที่เป็นมนุษย์มีความตระหนี่ เมื่อมีผู้มาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยความปรารถนาจะแกล้งประชด ไม่เคารพในทาน จึงมาเกิดเป็นเปรตประเภทนี้
        ๓.  คูถขาทาเปรต  เป็นเปรตที่มีรูปร่างน่าสะอิดสะเอียน น่าเกลียด เที่ยวแสวงหาคูถ คือ อุจจาระ ที่คนถ่ายทิ้งไว้ ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมากเท่าไรก็ยิ่งชอบ เมื่อเปรตเหล่านี้เห็นอุจจาระจะดีใจจนเนื้อเต้น รีบวิ่งรี่เข้าไปที่กองอุจจาระเหมือนสุนัขอย่างนั้น ครั้นไปถึงก็ก้มหน้าดูดเอาโอชะของคูถนั้นเป็นอาหาร แต่ก็ไม่เคยอิ่มเลย
         กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งที่เป็นมนุษย์มีความตระหนี่  เมื่อหมู่ญาติที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้คนมาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอข้าว ขอน้ำดื่ม  จะเกิดอาการขุ่นเคืองขึ้นมาทันที ชี้ไปที่มูลสัตว์พร้อมกับบอกว่า "ถ้าอยากได้  ก็จงเอาไปกินเถิด  แต่จะมาเอาข้าวปลาอาหาร ข้าไม่ให้หรอก" แล้วก็ขับไล่ไสส่ง ด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรตชนิดนี้
        ๔.  อัคคิชาลมุขาเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างผอมโซ มีเปลวไฟแลบออกมาจากปากตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน  ไฟไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา  ครั้นทนไม่ได้ก็วิ่งร้องไห้ครวญครางไปไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์  ถึงกระนั้นไฟก็ไม่ดับ กลับเป็นเปลวเผาลนปากและลิ้นหนักเข้าไปอีก
         กรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่เหนียวแน่น เมื่อมีใครมาขอกิน  ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวคนอื่นดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังจะแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบ จะได้เลิกมาขอ  เพราะไม่เห็นอานิสงส์ของการทำทานกับบุคคลต่างๆ
        ๕.  สุจิมุขาเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างแปลกพิกล คือ เท้าทั้งสองใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะได้อาหารมาบริโภคแต่ละครั้งก็ไม่พออิ่ม เพราะมีปากเท่ารูเข็ม อาหารไม่อาจจะผ่านช่องปากเข้าไปได้ง่ายๆ อยากกินแต่กินไม่ได้ ต้องทุกข์ทรมานแสนลำบาก ร่างกายผอมโซดำเกรียม
         กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนตระหนี่ในชาติที่เป็นมนุษย์ เมื่อมีใครมาขออาหาร ก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาที่จะถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีจิตหวงแหนทรัพย์สมบัติ พูดจาส่อเสียดผู้มีศีล ดูถูกดูแคลนด้วยชาติชั้นวรรณะต่างๆ  หรือด่าว่าตบตีผู้บังเกิดเกล้า  ด้วยอำนาจความโกรธและความหลง  ผลกรรมตามสนอง ต้องมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
        ๖.  ตัณหาชิตาเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างผอมและอดอยากเช่นเดียวกับเปรตพวกอื่น คือ มีความอยากข้าว น้ำเป็นกำลัง ที่แปลกกว่านั้น คือเปรตเหล่านี้จะเดินตระเวนท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อมองไปเห็นสระ บ่อ ห้วย หนอง ก็ตื่นเต้นดีใจ รีบวิ่งไปโดยเร็ว แต่ครั้นไปถึงแหล่งน้ำนั้น กลับกลายเป็นสิ่งอื่นด้วย อำนาจกรรมบันดาล
         กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อ ปิดหม้อ ไม่ให้คนอื่นได้ดื่มกิน  เหมือนชาวนาที่ถึงฤดูทำนาก็ไม่มีจิตเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนบ้าน  กั้นน้ำเข้าที่นาของตนเพียงคนเดียวเป็นต้น ครั้นละโลกแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตอดอยากข้าวน้ำดังกล่าว
        ๗.  สุนิชฌามักกาเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างเหมือนต้นเสา  หรือต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้ สูงชะลูดดำทะมึน แลดูน่ากลัวมาก มีกลิ่นเหม็นเน่า มือและเท้าเป็นง่อย ริมฝีปากด้านบนห้อยทับริมฝีปากด้านล่าง มีฟันยาว มีเขี้ยวออกจากปาก ผมยาวพะรุงพะรัง มีความอดอยากเหลือประมาณ ยืนทื่ออยู่ที่เดิมไม่ท่องเที่ยวไปไหนเหมือนเปรตชนิดอื่น ยืนเป็นตอไม้
         กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลก็โกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่า ท่านเหล่านั้นจะมาขอของตน จึงแสดงกิริยาอาการเยาะเย้ยถากถาง ขับไล่สมณพราหมณ์เหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่เป็นคนแก่คนเฒ่า เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะความชรา แกล้งให้ท่านตกใจจะได้ตายไวๆ ตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติ
        ๘.  สุตตังคเปรต เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีดเหมือนดาบ และงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาตะกายข่วนร่างกายตนเองให้ขาดเป็นแผลด้วยเล็บ แล้วกินเลือดเนื้อของตนเองเป็นอาหาร
         กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชอบขูดรีดชาวบ้าน เอาเปรียบผู้อื่น หรือบางครั้งชอบรังแกหยิกข่วนบิดามารดาให้ได้รับความทุกข์ทรมานสาหัส  หรือผู้ทรงศีลทรงธรรมทั้งหลาย ด้วยอำนาจโทสะ โมหะ ปราศจากความเมตตา
        ๙.  ปัพพตังคาเปรต เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่เหมือนภูเขา เวลากลางคืนสว่างไสวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ กลางวันเป็นควันล้อมรอบกาย เปรตเหล่านี้ต้องถูกไฟเผาคลอก นอนกลิ้งไปมาเหมือนขอนไม้ที่กลิ้งอยู่กลางไร่กลางป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องไห้ปานจะขาดใจ
         กรรมที่เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมด้วยการเผาสถานที่สาธารณต่างๆ เช่นเผาบ้าน เผาโรงเรียน เผากุฏิ วิหาร วัดวาอารามให้ได้รับความเสียหาย เพียงเพราะความแค้นเล็กๆ น้อย หรือเพราะต้องการอยากขโมยของบางอย่างที่ตนเห็นว่ามีค่าสำหรับตน เป็นต้น
       ๑๐.  อชครเปรต เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เดรัจฉาน เช่น มีรูปร่างเป็นงูเหลือม เป็นเสือ เป็นม้า เป็นวัว เป็นควาย เป็นหมู เป็นต้น แต่จะถูกไฟเผาไหม้ทั่วร่างกายทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่างเว้น แม้แต่วันเดียว
         กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เมื่อเห็นสมณพราหมณ์ ผู้มีศีลมาเยือน ก็ด่าเปรียบเปรยท่าน  ว่าเสมอด้วยสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ เพราะไม่อยากให้ทาน หรือแกล้งล้อเลียนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ในปัจจุบันนี้มีให้เห็นบ่อย เช่น พระสงฆ์ที่ไปสร้างที่พักสงฆ์แห่งใหม่ๆ มักถูกชาวบ้านขับไล่ ด่าว่า โดยไม่ตรองให้ดีว่าการที่ท่านมาอยู่ในพื้นที่นั้น เป็นการมาสร้างประโยชน์ให้ชุมชน  ได้เรียนรู้หลักธรรม ได้ปฏิบัติธรรม ชาวบ้านคิดเพียงว่าพระสงฆ์มายึดที่ มาแย่งที่ทำกิน เป็นต้น
       ๑๑.  เวมานิกเปรต  เปรตตระกูลนี้จะมีสมบัติ คือ วิมานทองอันเป็นทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวเทวดาในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะเสวยทุกข์ ตามสมควรแก่กรรม
         กรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีศรัทธาในการสร้างบุญกุศลอื่น และมีความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป แม้รักษาศีลก็รักษาแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ตั้งใจรักษา และ
      ๑๒.  มหิทธิกาเปรต เป็นเปรตที่มีฤทธิ์และมีรูปงามดุจเทวดา แต่ทว่าอดอยากหิวโหยอยู่ตลอดเวลา เหมือนเปรตชนิดอื่นๆ จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพบคูถมูตร และของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหารอย่างพอใจ
         กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ ครั้งเป็นมนุษย์ ได้บวชเป็นพระภิกษุ-สามเณร พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ จึงมีรูปงามผุดผ่องราวเทวดา แต่ไม่ได้บำเพ็ญธรรม มีใจเกียจคร้านต่อการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัยของบรรพชิต จิตใจจึงมากไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ มีความเข้าใจผิดว่า "เราบวชแล้ว รักษาแต่ศีลอย่างเดียวก็พอ ไม่เห็นต้องทำบุญให้ทานเหมือนฆราวาสเลย" ครั้นเมื่อละโลกจึงมาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เปรตตระกูลสุดท้าย  
          จากสาเหตุที่ส่งผลให้ไปเกิดเปรต ทั้ง ๑๒ ชนิด สามารถรวบรวมได้ว่า โอกาสที่มนุษย์ผู้ยังมีชีวิตอยู่นี้จะไปจุติเป็นเปรตนั้นมีเกือบถึง ๑๐๐ % เพราะเกี่ยวกับอารมณ์ของใจเป็นสำคัญ ตราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมจิตใจของตนให้เป็นปรกติได้ (นิ่งเฉย) ก็ย่อมมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเปตวิสยภูมิได้ตลอดเวลา
นิมิตที่บ่งบอกว่าตนจะไปจุติเป็นเปรต
         นิมิตที่บ่งบอกถึงหนทางที่จะไปสู่โลกเปรตหลังจากที่สิ้นลมหายใจแล้ว เช่น เห็นหุบเขา  เห็นถ้ำที่มืดมิดมีความวังเวง เวิ้งว้างเปล่าเปลี่ยว  หรือเห็นเป็นแกลบและข้าวลีบมากมาย  รู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง  บางทีเห็นว่าตนดื่มกินน้ำเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน  หรือเห็นเป็นเปรตมีรูปร่างผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว  มีสภาพเนื้อตัวสกปรกรุงรัง  หากภาพนิมิตเหล่านี้มาปรากฏให้เห็นก่อนสิ้นใจ  จิตย่อมยึดหน่วงไว้เป็นอารมณ์ เมื่อกายดับจิตเคลื่อนในขณะนั้น  ต้องบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมที่ตนกระทำอย่างแน่นอน
ตัวอย่างบุพกรรมของเปรตที่ปรากฏในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก
ตัวอย่างที่ ๑ ในขลาตยเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตเปลือยกาย มีใจความปรากฏว่า
             หัวหน้าพ่อค้าถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า
                            ท่านเป็นใครหนออยู่ภายในวิมานนี้ ไม่ออกจากวิมานเลย ดูกรนางผู้เจริญ
                          เชิญท่านออกมาเถิด ข้าพเจ้าจะขอดูท่านผู้มีฤทธิ์?
             นางเวมานิกเปรตฟังคำถามดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า
                          ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้ กระดากอายที่จะออกภายนอก
                          ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก.
             พ่อค้ากล่าวว่า
                          ดูกรนางผู้มีรูปงาม เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะให้ผ้าเนื้อดีแก่ท่าน เชิญท่าน
                          นุ่งผ้านี้ แล้วจงออกมาภายนอก เชิญออกมาภายนอกวิมานเถิด ข้าพเจ้า
                          จะขอดูผู้มีฤทธิ์มาก.
             นางเวนิกเปรตตอบว่า
                          ผ้านั้นถึงท่านจะให้ที่มือของดิฉันเอง ก็ไม่สำเร็จแก่ดิฉัน ถ้าในหมู่ชนนี้
                          มีอุบาสกผู้มีศรัทธา เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงให้
                          อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่ท่านจะให้ดิฉันแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ดิฉัน เมื่อ
                          ท่านทำอย่างนั้น ดิฉันจึงจะได้นุ่งห่มผ้านี้ตามปรารถนา ถึงซึ่งความสุข.
             พ่อค้าทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงให้อุบาสกนั้นอาบน้ำ ลูบไล้แล้วให้นุ่งห่มผ้า แล้ว
อุทิศส่วนกุศลให้นางเวมานิกเปรตนั้น ในทันตาเห็นนั้นเอง
              วิบากย่อมบังเกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น โภชนะ เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม ย่อมบังเกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ลำดับนั้น นางมีสรีระบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าสะอาด งามดีกว่าแคว้นกาสี เดินยิ้มออกมาจากวิมานประกาศว่า นี้เป็นผลแห่งทักษิณา.
             พ่อค้าเหล่านั้นถามว่า
                          วิมานของท่านงดงาม มีรูปภาพวิจิตรดี สว่างไสว ดูกรนางเทพธิดา
                          พวกข้าพเจ้าถามแล้วขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
             นางเทพธิดานั้นตอบว่า
                          เมื่อดิฉันเป็นมนุษย์อยู่นั้น มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายแป้งคั่วอันเจือด้วย
                          น้ำมัน แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต มีจิตซื่อตรง ดิฉันเสวยวิบากแห่ง
                          กุศลกรรมนั้นในวิมานนี้สิ้นกาลนาน ก็ผลบุญนั้น เดี๋ยวนี้ยังเหลือ
                          นิดหน่อย พ้น ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้ จักไปตกนรก
                          อันเร่าร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม มี ๔ ประตู จำแนกเป็นห้องๆ ล้อม
                          ด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดง
                          ลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์
                          โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ดิฉันจักต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอด
                          กาลนาน ก็การเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลแห่งกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น ดิฉัน
                          จึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกนั้น.
ตัวอย่างที่ ๒  ในปูตีมุขเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตปากเน่า
             ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า
                           ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในอากาศ แต่ปากของท่านมีกลิ่น
                          เหม็น หมู่หนอนพากันมาไชชอนอยู่ เมื่อก่อนท่านทำกรรมอะไรไว้?
             เปรตนั้นตอบว่า
                          เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่ว สำรวมกายเป็นปกติ ไม่
                          สำรวมปาก ผิวพรรณดังทองข้าพเจ้าได้แล้ว เพราะพรหมจรรย์นั้น แต่
                          ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่าเพราะกล่าววาจาส่อเสียด ข้าแต่ท่านพระนารทะ
                          รูปของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว ท่านผู้ฉลาดอนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า
                          ท่านอย่าพูดส่อเสียดและอย่าพูดมุสา ถ้าท่านละคำส่อเสียดและคำมุสา
                          แล้ว สำรวมด้วยวาจา ท่านจักเป็นเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าใคร่.
          เมื่อสาธุชนได้รู้และเข้าใจถึงภพภูมิของเปรตแล้วว่า มีความทุกข์ร้อน  ลำบาก  มีความหิวกระหาย ว้าเหว่  จงมีความหมั่นและพากเพียรในการสร้างบุญสร้างกุศลทุกวินาที  อย่าได้ปล่อยให้เกิดช่องว่างได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว โดยอาศัยการมีศีล  มีศรัทธา มีความเพียร และมีปัญญา เมื่อการกระทำของท่านประกอบด้วยธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว จะสามารถส่งผลให้การกระทำของเรามีอานิสงส์มาก เปรียบเสมือนคนมีที่ทำกินจะกี่ไร่ก็ตาม ถ้าขาดความขยัน ขาดความรู้และรักที่จะทำงาน ก็ไม่เกิดประโยชน์  แต่ตรงกันข้ามกับคนที่ขยัน ชอบทำงาน และพอมีความรู้บ้าง  ถึงแม้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองก็สามารถสร้างฐานะที่มั่นคงได้ฉันใด สติกับสัมปชัญญะเปรียบเสมือนตัวคน มีศีลคือที่ทำกิน มีปัญญาคือเครื่องมือ และศรัทธากับความเพียรคือจิตใจที่ชอบขยันทำงาน ย่อมยังภพภูมิของตนที่ตนปรารถนาหรือคุณธรรมขั้นสูงให้เกิดขึ้นได้ฉันนั้น ดังพระบาลีว่า สุโข  ปุญญสฺส  อุจฺจโย  แปลว่า การสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้ ดังนี้
          ก่อนจบการบรรยายธรรมในหัวข้อ “พฤติกรรมที่นำไปสู่เปตวิสยภูมิ” นี้  อาตมภาพของฝากธรรมะ ๔ ข้อ สั้นๆ เพื่อเป็นเครื่องสะกิตและเตือนสาธุชนทั้งหลายให้มีกำลังใจในการทำคุณงามความดี และเป็นการป้องกันจิตใจไม่ให้ตกไปสู่อำนาจของความเป็นเปรตครอบงำได้ คือ
          ๑.   สังวรปธาน  คือการพยายอย่างที่สุด เพื่อระวังไม่ให้บาปกรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในใจเราได้ หรือในการใช้ชีวิตแต่ละวันให้ปราศจากความไม่ดีทั้งปวง สิ่งที่จะระวังได้ขนาดนี้ เราต้องหัดภาวนาให้มาก จะแบบสติปัฏฐาน ๔ หรือแบบอานาปานสติ  หรือแบบสัมมา อะระหัง ก็สุดแล้วแต่ความถนัดของตนๆ
          ๒.   ปหานปธาน  คือการพยายามละความชั่ว ความไม่ดีทั้งหลายที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วในสันดาน ในจิตใจของตน จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความไม่ดีอยู่ในใจ สิ่งนี้ก็ต้องพยายามสังเกตอารมณ์ของใจอยู่ตลอดเวลา
          ๓.   ภาวนาปธาน  คือการพยายามสร้างคุณงามความดีทั้งหลายให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา สำรวจตนเองอยู่ตลอดว่าบุญกุศลชนิดไหนเรายังขาด  ยังไม่มีในจิตใจ ต้องรีบเร่งพยายามสร้างให้มี  อย่านิ่งนอนใจนะ เพราะความตายตามหลังเรามาติดๆ ไม่ช้าก็เร็วย่อมตามเราทัน ฉะนั้น เราพร้อมหรือยังหละ
          ๔.   อนุรักขนาปธาน คือการรักษาคุณงามความดีทั้งหลายที่ตนเคยทำมาแล้วไม่ให้เสื่อม  จากเมื่อก่อนเคยขยันเข้าวัดทุกวันนี้ก็ต้องขยันอยู่แบบนั้นเหมือนเดิม  เมื่อก่อนเคยปรนนิบัติพ่อแม่ของตนอย่างไร ถ้าตราบใดที่ท่านยังไม่จากพวกเราไปเราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่แบบนั้น
          ทั้ง ๔ ข้อ นี้เป็นธรรมะที่เสริมใจของคนเราให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา  มีความกระตือรือร้นที่จะประกอบคุณงามความดี  มีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อม เปรียบเสมือนคนมีอาวุธอยู่กับตัว จะมีความรู้สึกอบอุ่นใจอยู่ตลอดเวลา  ไม่กลัว  ทำกิจการงานใดๆ ก็สำเร็จ เพราะตนมีอุปกรณ์ มีความพร้อมแล้ว
          ในลำดับสุดท้ายแห่งการบรรยายธรรมนี้ อิมินา ปุญญกมฺเมนฯ ด้วยบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญดีแล้วในท่ามกลางสงฆ์ จงเป็นอิฏฐวิบากสุขในสัมปรายภาพสมดังเจตนาปรารถของสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญเปตญาติพลีให้กับญาติๆ ทั้งหลายที่ได้ล่วงลับดับกายสังขารไปแล้วในครั้งนี้  จงได้รับส่วนบุญส่วนกุศลโดยทั่วหน้า  ท่านที่มีสุขแล้วก็ขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป  ท่านที่ได้รับทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์นั้นโดยเร็วพลัน
          และขอคุณงามความดีและบุญกุศลทั้งหลายนี้  จงเป็นปฏิพรย้อนสนองให้กับสาธุชนทั้งหลาย มีความสมบูรณ์ด้วยอายุ วรรณะ  สุขะ พละ ปฏิภาณ  ธนสารสมบัติ  คิดปรารถนาสิ่งใดที่ชอบประกอบไปด้วยธรรม ขอให้ความปรารถนานั้น  จงพลันสำเร็จ พลันสำเร็จ พลันสำเร็จ สมความมุ่งมาตรปรารถนาทุกประการ เทอญ.
ขอเจริญพร
         
         



                        [๑]   ๔๐๐ เส้น เท่ากับ ๑ โยชน์ๆ เท่ากับ ๑๖.๐๙ กิโลเมตร