วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

โลกธรรม ๘ ประการ

โดย... พระมหาเฉลิมเกียรติ  จิรวฑฺฒโน
น.ธ.เอก, ป.ธ.๓, ปว.ค. พธ.บ., ศศ.ม.

          ความสุขและความทุกข์ ๒ สิ่งนี้มักเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่อันใดก็อันหนึ่งจะให้ผลกับเจ้าของจิตใจก่อนเสมอ  ถ้าอารมณ์สุขเกิดขึ้นก่อน คนๆ นั้นจะรู้สึกสบาย หายใจก็คล่องแคล่ว ตัวเบาเหมือนปราศจากอะไรมาหน่วงไว้ คิดดี ทำดี พูดดี แต่เมื่อใดที่อารมณ์ทุกข์เกิดขึ้นบ้าง  เจ้าของจิตใจนั้นๆ ก็จะกลับกลายเป็นคนละคน จะเป็นคนก็ไม่ใช่ จะเป็นยักษ์ก็ไม่ถูก เหมือนคนติดโรคระบาดอะไรบางอย่าง  ต้องใช้เวลานานมากทีเดียวจึงจะกลับเป็นคนเดิมได้ อาการนี้เป็นอาการของคนถูกโลกธรรมเข้าครอบงำ ทั้งที่เป็นอารมณ์ดีใจและอารมณ์เสียใจ ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท เราต้องบริหารจิตใจของตนให้ดี ท่ามกลางกระแสแห่งความเสี่ยงคือคลื่นอารมณ์แห่งโลกธรรม  เราจึงใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโลกนี้ได้อย่างปกติสุข  แม้โลกจะสมมติให้เป็นอะไรก็ตาม  เราก็สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างไม่หวั่นไหวไปตามกระแสนั้นๆ
          ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางและเป็นวิธีการออกจากหลุมดำที่ผู้คนตกไปแล้วล้วนถูกเผาไหม เพราะจิตใจขาดน้ำ  คือธรรมะสำหรับคอยรดและพรวนด้วยปัญญา ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คือทานเข้าไป ต้นกล้าแห่งบุญย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้น “โลกธรรม ๘” มุ่งถึงวิธีการปรับสมดุลในจิตใจ ต้องมองอะไรให้ได้สองมิติ อย่ามองส่วนเดียว เช่นเมื่อมีทุกข์เกิดขึ้น สักวันความสุขต้องเกิดมีกับเราอย่างแน่นอน แต่กึ่งกลางระหว่างการมองแบบนี้เราต้องมีอุปกรณ์หรือวิธีการที่แยบยลด้วย ถ้านึกเฉยๆ ก็จะเป็นการเพ้อฝัน ซึ่งจะได้อธิบายเป็นลำดับต่อไป
มีความสุขเพราะมองทุกอย่างเป็นธรรมชาติ
          มีนิทานก้อมของอีสาน เรื่องเขยจารย์-เขยเซียงเพื่อเป็นอุปกรณ์สะท้อนให้สาธุชนทั้งหลายได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น (ถ้าอยากจะได้อรรถรสต้องพูดเป็นภาษาอีสาน) ดำเนินความว่า พ่อใหญ่หำผู้เป็นพ่อตามีลูกเขยอยู่สองคน คือเขยจารย์กับเขยเซียง  เขยจารย์นั้นเป็นคนมีความรู้หลากมากด้วยวิชาการ พูดจาอะไรมีหลักมีเกณฑ์เพราะตนเคยบวชเคยเรียนมา ส่วนเขยเซียงนั้นไม่ค่อยรู้หนังสือเท่าที่ควร  เพราะเรียนจบ ป.๒ แต่เป็นคนหัวไวใจกล้ามีปฏิภาณไหวพริบดี
          ลูกเขยทั้งสองของพ่อใหญ่หำไม่ค่อยถูกกัน ทะเลาะกันอยู่เรื่อย เหมือนจับไก่ชนกับไก่ตีไปขังไว้ในซุ้มเดียวกัน พ่อตาต้องคอยจับแยกอยู่ตลอด สร้างความกลุ้มใจให้พ่อตาเป็นอย่างมาก  ตัดสินใจไม่ได้ว่า ใครดี ใครชั่วอยู่มาวันหนึ่งชวนลูกเขยไปเที่ยวป่า วันนี้พ่อจะไปหาของป่าว่าแล้วลูกเขยทั้งสองก็จัดข้าวจัดของเตรียมเข้าป่ากับพ่อตา  ระหว่างทางได้เดินพูดคุยกันไปเรื่อยตามประสาพ่อตาลูกเขยอย่างมีความสุข  พ่อใหญ่หำพูดกับลูกเขยทั้งสองของตนว่า ข้ามเขาลูกนี้ไปก็ถึงแล้ว ขณะนั้นมีวัวร้องอยู่ใกล้ๆ พ่อตาเลยถามลูกเขยจารย์ผู้คงแก่เรียนว่า “วัวทำไมมันร้องเสียงดังแท้เขยจารย์”
             เขยจารย์ :    คอมันยาว และตัวก็ใหญ่ด้วย เลยร้องดัง 
                 พ่อตา :    ออ อย่างนั้นหรอกเหรอ จากนั้นเขยเซี่ยงซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ ก็พูดขึ้นว่า
              เขยเซียง :    มันไม่ใช่หรอก มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง
                 พ่อตา :    อ้าวทำไมว่าอย่างนั้นหละเซี่ยง
              เขยเซียง :    แม้อึ่งตัวเล็กๆ คอสั้นๆ ทำไมร้องเสียงดังหละถ้าอย่างนั้น 
          จากนั้นก็พาลูกเขยเดินทางต่อ ได้พากันไปนั่งพักเอาแรงอยู่ใต้ร่มไผ่  พ่อตาหันไปเห็นหน่อไม้แห้งตายคากอไผ่  พร้อมกันนั้นก็นึกคำถามขึ้นได้ว่า หนอไม้ทำไมมันโผล่ขึ้นมาได้นะ ทั้งๆ ที่มันอยู่ในดิน
             เขยจารย์ :    มันเป็นแบบนี้พ่อ กว่ามันจะขึ้นมาได้ ปลายมันแหลมมันเลยขึ้นมาได้
                 พ่อตา :    ปลายมันแหลม อ้อ ปลายมันแหลม
             เขยจารย์ :    คร้าบบบบ  พ่อตาเลยหันไปถามเขยเซียงต่อว่า ว่าจังได๋หละเซี่ยง
              เขยเซียง :    โอ้ยมันธรรมชาติของมันหรอกพ่อ  แม้เห็ดปลายทู่ๆ ป้อมๆ จอมปลวกแข็งๆ มันยังขึ้นมาได้ นับประสาอะไร
                 พ่อตา :    เออ เข้าท่าวุ่ยบักเซี่ยงเข้าท่าๆๆๆๆ  ว่าแล้วก็พากันเดินทางต่อ  ไปตามลำธาร  ไปเจอหินก้อนใหญ่ มีรอยแตก เลยถามเขยจารย์ว่า “หินนี้มันแข็งก้อนก็ใหญ่ทำไมมันจึงแตกได้”
             เขยจารย์ :    มันเป็นแบบนี้พ่อ  มันนาน ตากแดดตากลม ถูกแดด  ถูกลม  ถูกฝนมากไป เลยแตกพ่อตาเลยถามเขยเซียงต่อว่า ว่าจังได๋เซี่ยง
              เขยเซียง :    ธรรมชาติมัน  พ่อไม่สังเกตเหรอขนาดผิวหนัง  อยู่ในร่ม  อยู่ในผ้า มันยังแตก ไม่เห็นมันโดนแดดโดนฝนอะไรเลย
                 พ่อตา :    เออ ใช่อย่างมึงว่าแหละบักเซี่ยง (ถูกใจพ่อตาอย่างมาก)  เมื่อได้คำตอบที่พอใจแล้ว  พ่อตาก็พาเดินไปอีก ก็ไปเจอตะไคร้กอหนึ่ง พ่อตาเลยถามเขยจารย์ว่า “ตะไคร้กอนี้งามจริงๆ ไม่มีใครมารดน้ำทำไมมันสวยแท้  ที่บ้านเราไม่เห็นสวยแบบนี้เลย”
             เขยจารย์ :    มันแบบนี้พ่อ มันอยู่ใกล้น้ำ มันชุ่ม มันเย็น ก็เลยสวยกอใหญ่ดกดี  จากนั้นถามลูกเขยเซี่ยง ว่าจังได๋เซี่ยง
              เขยเซียง :    ธรรมชาติมันพ่อ  มันดกมันงามก็ไม่เกี่ยวกับน้ำหรอก
                 พ่อตา :    ไม่เกี่ยวอย่างไร  มันก็อยู่ใกล้น้ำขนาดนั้นนะ
              เขยเซียง :    ฮือ ขนาดหัวเฒ่าพ่อถูกน้ำทุกวัน  เหงื่อออกทุกวัน ทำไมผมไม่ดกไม่งามหละ  นับวันทำไมบางลงๆ แท้หละ
                 พ่อตา :    ใช่ความมึงว่าแหละ
          นิทานพื้นบ้านนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสัจจะธรรม  คือการมองโลกตามสภาพความเป็นจริง  ไม่มีอะไรปรุงแต่ง  มันเป็นของมันอย่างนั้น  เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ตามกฎแห่งสามัญลักษณะ  เมื่อผู้มีปัญญาสามารถมองเห็นโลกได้เช่นนี้ ก็ย่อมพบกับความสุขในการดำเนินชีวิตได้ 
ความหมายของโลกธรรม
          โลกธรรม  คือธรรมที่มีอยู่ประจำโลก  หมายถึงสิ่งที่มีอยู่แล้ว ถึงมนุษย์เราจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในโลก สิ่งนี้ก็มีอยู่แล้ว  มี ๒ ประเภท คือ
         ๑.   อารมณ์ที่น่าปรารถนา  เรียกว่า อิฏฐารมณ์ มี ๔ ประการ คือ :-
               ๑.๑  การได้ลาภ เช่น การได้ทรัพย์สินเงินทอง เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย รถยนต์ บุตร-ธิดา สามี-ภริยา การไม่มีโรคเบียดเบียน การได้มาซึ่งเหตุเหล่านี้ เรียกว่าได้ลาภ
               ๑.๒  การได้ยศ เช่น การมีอำนาจ สามารถสั่งการได้ มีชื่อเสียง การได้ตำแหน่ง ได้เลื่อนฐานะ แยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ
                       ๑.๒.๑   เกียรติยศ เช่น การจบด๊อกเตอร์ มีผลงานมากผู้คนให้การต้อนรับ ไปไหนมาไหนก็มีคนยกมือไหว้ทักทายเป็นอย่างดี ฯลฯ
                       ๑.๒.๒   อิสริยยศ เช่น ตำแหน่งอันทรงเกียรติทั้งหลายที่สมมุติขึ้น มีตำแหน่งในการงานหน้าที่ทั้งหลาย หรือแม้แต่สมณะศักดิ์ของพระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน
                       ๑.๒.๓   บริวารยศ เช่น การมีผู้ใต้บังคับบัญชาในสายงานต่างๆ  มีกำลังพลในหน้าที่ หรือมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ เป็นต้น
               ๑.๓  การได้สรรเสริญ เช่น การได้รับคำสดุดีจากผู้คนทั้งหลาย คำเยินยอ ยกย่อง คำชม จากผู้คนที่ชื่นชอบในตัวเรา เป็นต้น
               ๑.๔  การได้รับความสุข เช่น ความสุขกายสบายใจจากชีวิตครอบครัว ความสุขของพ่อแม่ที่เห็นลูกของตนน่ารักน่าชัง ขยัน อดทน เรียนเก่ง หรือการมีเงินทองใช้อย่างไม่ขัดข้อง สรุปแล้วความสุขนั้นมีสาเหตุมาจาก ๓ ข้อ ข้างต้น
         ๒.   อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ มี ๔ ประการ คือ :-
               ๒.๑  การเสื่อมลาภ  เช่นค้าขายขาดกำไรทำอะไรก็เจ๊ง มีเงินใช้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ลูกเมียสุขภาพแย่
               ๒.๒  การเสื่อมยศ  เช่นถูกปรับตำแหน่ง ถูกถอดถอน หรือลงสมัครแต่ไม่ได้รับเลือก ฯลฯ
               ๒.๓  การถูกนินทา  เช่นมีคนมาดูถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่นดูแคลน ด่าว่าเสียๆ หายๆ ฯลฯ
               ๒.๔  ความทุกข์ เช่น มีโรครุมเร้า เมีย-ผัวมีชู เครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับสาเหตุจาก ๓ ข้อข้างต้น
          โลกธรรมนั้น  ท่านมุ่งเอาสภาวธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจ เป็นอารมณ์ก่อกวนใจให้วุ่นวาย กล่าวโดยสรุปก็คือ  ทรงสอนมนุษย์ปุถุชนไม่ให้ประมาทในการดำเนินชีวิต  ให้รู้จักมองโลกสองมิติ คือเมื่อมีขาวก็ต้องมีดำ  มีสุขก็ต้องมีทุกข์  สมหวังก็ต้องผิดหวัง อย่าหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ตนกำลังเป็นอยู่และที่กำลังจะเป็น
          คนเราในโลกนี้ไม่มีใครติดใจโลกธรรมที่เป็นฝ่ายอนิฏฐารมณ์  เพราะเป็นสภาวะที่ไม่น่าชื่นชม น่ายินดี ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสมหวัง อะไรที่ตนได้ ตนมี เข้าใจว่านั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงเปรียบเสมือนการแข่งขันตัดสินแพ้-ชนะ  สอบได้-สอบตก  ฝ่ายที่ชนะย่อมสมหวัง  แม้จะเจ็บปวดขนาดไหนก็ลืมมันไปได้  ด้วยอำนาจของใจที่ถูกอารมณ์ความสมหวังฉาบทาไว้  แต่ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่พ่ายแพ้  แม้จะมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ขนาดไหนก็ตาม  เมื่อใจกระทบกับอารมณ์ความผิดหวังเข้าอย่างจัง  มักแสดงออกเหมือนคนอ่อนแอ  สิ้นหวัง  กินไม่ได้นอนไม่หลับ  อาการที่สมหวังและผิดหวังเหล่านี้คือความอ่อนแอของจิตที่กำลังถูกโลกธรรมครอบงำ  ย่อมทำให้จิตของผู้นั้นมีความหวั่นไหวและเป็นทุกข์ในที่สุด
โลกธรรม คือวงล้อแห่งความหายนะ
          โลกธรรม ๘ ประการนั้น  ฝ่ายที่น่ากลัวที่สุดที่ซึ่งสามารถทำให้คนดีมั่งมีความสุข  กลับได้รับความเสื่อมได้ง่ายที่สุด  คือโลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ ได้แก่ การได้ลาภสักการะ  การได้ยศได้ตำแหน่ง  การได้รับคำสรรเสริญเยินยอ  และการได้รับความสุขกายสบายใจ  ที่กล่าวว่าน่ากลัวเพราะว่า  คนเราเมื่อจิตได้รับอารมณ์เหล่านี้แล้วย่อมมีอาการฟูขึ้น มีความหวั่นไหว และในที่สุดก็นำไปสู่ความเป็นผู้ประมาท  เพียงเพราะเข้าใจว่า “กุศลกรรมทั้งหลายต่อไปนี้ตนไม่ต้องทำแล้ว  ปัจจุบันนี้เราก็มีพร้อมทุกอย่าง  จะเอาอะไรดีเท่านี้ไม่มีอีกแล้ว” ประโยคเหล่านี้ที่ก่อกำเนิดในใจลึกๆ ของเราจะกลับกลายเป็นปมแห่งความหายนะ  สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันไม่แน่นอนเหมือนสำนวนที่มักได้ยินประจำคือ สมบัติพลัดกันชมที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้พูดเพราะอิจฉาคนที่มั่งมีศรีสุขนะ  แต่กำลังชี้ต่อไปว่า  ผู้ที่สามารถทำใจให้เป็นกลางได้เท่านั้น  จึงจะดำรงตนอยู่ท่ามกลางโลกธรรมได้อย่างงดงาม  คือท่านทั้งหลายต้องฝึกมองอะไรแบบองค์รวม  หมายความว่าอย่ามองอะไรข้างเดียว  ต้องมองให้ได้สองด้าน  เช่นว่ามีสุขสักวันความทุกข์ต้องมาเยือนเรา  ช่วงขาขึ้นทำอะไรก็ดีหมด  สักวันความไม่สมหวังจะต้องเข้ามาหาเรา อย่างนี้เป็นต้น  เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์มักจะอยู่ด้วยกัน  ขึ้นอยู่กับว่าท่านใดจะประสบกับอารมณ์แบบไหนก่อน 
จิตไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมเป็นมงคลสูงสุด
          เมื่อผู้ใดฝึกจิตให้รู้สึกนึกคิดเช่นนี้อยู่เป็นประจำ  ย่อมทำให้จิตของตนไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของโลกธรรมที่ตนกำลังดำรงอยู่  ดังพระบาลีที่ปรากฏในมงคลสูตรข้อที่ ๓๕ ว่า ผุฏฺฐสฺส  โลกธมฺเมหิ  จิตฺตํ  ยสฺส  น  กมฺปติ  แปลได้ความว่า จิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ดังนี้
          จิตไม่หวั่นไหว  หมายถึง  จิตของบุคคลผู้หมดกิเลสแล้ว คือพระอรหันต์  แม้จิตของพระอริยบุคคลจำพวกอื่นก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ด้วย  ถ้ายังเป็นปุถุชนคนสามัญ จิตย่อมหวั่นไหวด้วยอำนาจที่ชอบใจและไม่ชอบใจ  ผู้มีจิตไม่หวั่นไหวย่อมมีความเป็นอยู่ที่สงบสุข  เยือกเย็น  มีความวางเฉยในอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้
          ปุถุชน หมายถึง ผู้ที่มีจิตใจหนาแน่นไปด้วยกองกิเลส มีลักษณะ หนัก  มีสีดำ  อ้วน เป็นต้น
          ปุถุชน มี ๒ ประเภท คือ  ๑. กัลยาณปุถุชน คือผู้ที่มุ่งจะพัฒนาตนเองให้มีความสมบูรณ์ด้วย ทาน ศีล ภาวนา เพื่อเลื่อนฐานะจิตเป็นกัลยาณชนและอริยะชนต่อไป ๒. ปาปปุถุชน คือผู้ที่ไม่ปรารถนาจะพัฒนาตนเองเจริญก้าวหน้า  พอใจยินดีกับสิ่งที่ตนเป็นอยู่ ที่ตนหลง ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาปิดบังไว้
          เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตของปุถุชนกับจิตของอริยะชนแตกต่างกัน  จิตของปุถุชนย่อมหวั่นไหว มีสภาพฟูขึ้นและยุบลง ส่วนจิตของอริยะชนนั้นย่อมไม่หวั่นไหวฉะนั้น ถ้าผู้ใดสามารถทำจิตของตนไม่ให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ของโลกธรรมได้ถือเป็นมงคลอันสูงสุด
ยุทธวิธีการฝึกจิตไม่ให้หวั่นไหว
          เพื่อเป็นธรรมะปฏิสันถารแก่สาธุชนทั้งหลาย  ในฐานะที่เราท่านทั้งหลายยังเป็นปุถุชน บ้างท่านเป็นกัลยาณปุถุชน บ้างท่านอาจก้าวสู่อริยะชนไปแล้ว ถือว่ารอดพ้นภัยพิบัติจากวัฏฏะสงสารนี้ อาตมาภาพขอนำเสนอวิธีการเอาชนะโลกธรรม ๘ ด้วย กฎ ๔ ร. ๓ พ. หรือถ้าไม่ชนะก็เป็นกำแพงป้องกันคลื่นยักษ์ที่จะถ่าโถมเข้ามาในจิตใจของเราได้  ในเบื้องต้นนั้น  เราต้องมองโลกตามสภาพความเป็นจริง  หลักการและทฤษฎีทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านศึกษามา  พอเข้าใจโลกได้ตามความเป็นจริงแค่นั้นเอง  ก็สามารถพูดได้แค่ประโยคนี้ประโยคเดียว  ดังที่พระอัญญาโกณฑัญญะหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้เปล่งอุทานออกมาด้วยความสุขใจว่า “ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ  สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมนฺติ. ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา จากมุมมองนี้ส่งผลให้ท่านได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลในที่สุด
          กฎ ๔ ร. หรือที่เรียกว่า อะภิณหะปัจจะเวกขะณะ สำหรับไว้พิจารณาทุกวัน เพื่อให้ใจเกิดความสงบ ไม่ทะเยอทะยาน สามารถวางเฉยได้ คือ :-
           ร : เรามีความแก่เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
           ร : เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
          ร : เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
           ร : เราจะละเว้นเป็นต่างๆ คือว่าจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งสิ้นไป
          กฎ ๓ พ. หรือที่เรียกว่ากฎไตรลักษณ์ สามัญลักษณะก็เรียก เป็นอาวุธที่คอยตัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจได้  และทุกอย่างก็มีจุดจบแบบนั้นจริง  ฝึกใจให้มีความรู้เท่าทันสภาพความเป็นจริง ดังนี้ :-
          พ : พิจารณาว่า สภาวะทุกอย่างไม่เที่ยง มีแล้วดับไป  มีแล้วหายไป
          พ : พิจารณาว่า สภาวะทุกอย่างเป็นทุกข์ ทนได้ยาก เกิดขึ้นแล้วแก่ เจ็บ ตายไป
          พ : พิจารณาว่า สภาวะทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่ควรถือว่าเราว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา
          จาก กฎ ๔ ร. ๓ พ. ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักหรือวิธีการคิดเพื่อให้จิตใจของเรารู้จักการปล่อยวาง  ใครสามารถปล่อยวางได้ก็จะพบกับความสุขใจมากแค่นั้น  ใครปล่อยวางไม่ได้ ยังมีการยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็ย่อมทุกข์มาก การไม่ยึดไม่ทุกข์ ดังพุทธโวหารว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย. แปลว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น.”
สรุปสาระสำคัญ
          ดังนั้น สรุปความแล้ว โลกธรรม  คือ  ธรรมที่มีอยู่ประจำโลก  หมายถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นธรรมชาติในโลกนี้  มี ๒ ประเภท คือ
          ๑.   อารมณ์ที่น่าปรารถนา  เรียกว่า อิฏฐารมณ์ มี ๔ ประการ คือ การได้ลาภ  การได้ยศ  การได้สรรเสริญ และการได้รับความสุข
          ๒.   อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ มี ๔ ประการ คือ การเสื่อมลาภ  การเสื่อมยศ  การถูกนินทา  ความทุกข์
          เมื่อโลกธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม บุคคลนั้นต้องมีสติรู้ทันตามสภาพความเป็นจริง  ไม่มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ยามใดที่ฝ่ายอนิฏฐารมณ์มากระทบใจ ต้องคิดไว้เสมอว่าสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอนสักวันฝ่ายอิฏฐารมณ์ก็ต้องเกิดขึ้นกับเรา ไม่มีใครผิดหวังไปตลอดและไม่มีใครจะสมหวังไปเสมอ ถ้าเรายึดติดมาก ชีวิตเราก็ไม่พบความสุขเอาเสียเลย ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า :-
สิ่งทั้งปวงควรหรือจะถือมั่น
เพราะว่ามันก่อทุกข์มีสุขไฉน
ยึดมั่นมากทุกข์มากลำบากใจ
ปล่อยวางได้เป็นสุขทุกคืนวัน...
          ในท้ายที่สุดนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนะตรัย และคุณงามความดีทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในท่ามกลางพุทธสมาคมนี้ จงมารวมกันเป็นมหันตเดชานุภาพ  สนับสนุนส่งเสริมให้สาธุชนทั้งหลายมีความบริบูรณ์ด้วยสตมายุวัสสาไร้โรคาพยาธิ  สุทัศนาด้วยสิริวรรณะ  ทุกขะโทมนัสอย่าได้กล่ำกราย  มีความสุขอันบริบูรณ์เป็นที่ตั้ง  มีพละกำลังดังอาชาศึกในการดำเนินชีวิต  คิดปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใดที่ชอบประกอบไปด้วยความพอดี  มีทุนคือบุญที่เคยกระทำไว้ดีแล้วในกาลก่อน จงสัมปยุตด้วยผลแห่งจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยนี้ๆ ขอให้ความมุ่งปรารถนาของท่านนั้นๆ จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จทุกประการ เทอญ.




                [๑] ปรับปรุงจากบทเทศน์เวียนในพรรษา ครั้งที่ ๑๓ ปีที่ ๕๕ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป