วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การปฏิบัติตนของโยคาวจร

                จกฺขุมสฺส  ยถา  อนฺโธ             โสตา  พธิโร  ยถา
                ชิวฺหามสฺส  ยถา  มูโค             พลวา  ทุพฺพโลริว
                อถ  อตฺเถ  สมุปฺปนฺเน             สเยถ  ปุตฺตสายิกํ.
        ธรรมดาผู้ปฏิบัติธรรม มีตาดีก็ให้ทำเหมือนคนตาบอด  มีหูดีก็ให้ทำเหมือนคนหูหนวก  มีลิ้นเจรจาได้ก็ให้ทำเหมือนคนใบ้  มีกำลังแข็งแรงก็ให้ทำเหมือนคนแก่ทุพพลภาพ  ครั้นมีเรื่องราวบังเกิดขึ้น  ก็พึงนอนให้สบายเสีย  ดังหนึ่งว่า มารดากกบุตรให้นอนหลับอย่างเป็นสุข ฉะนั้น.
พระอนุรุทธเถระสอนไว้ว่า
              ยถาปิ  เขตฺเต  ปริสุทฺเธ            พีชญฺจสฺส  ปติฏฺฐตํ
                โหติ  วิปุลํ  ผลนฺตสฺส           ปริโตเสติ  กสฺสโก
                ตเถว  โยคินา  จิตฺตํ           สุญฺญาคาเร  วิโสธิตํ
                สติปฏฺฐานเขตฺตวเร              ขิปฺปเมว  วิรุหติ.
        พืชที่หว่านลงในเนื้อนาที่ดี  บริสุทธิ์  เป็นที่งอกงาม  ย่อมมีเมล็ดผลไพบูลย์ให้แก่เจ้าของนาได้ชื่นชม  ยินดี  ฉันใด  ท่านผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องชำระจิตให้สะอาดในที่อันสงัดแล้ว  ย่อมเจริญงอกงามในเนื้อนาอันประเสริฐ  คือสติปัฏฐานโดยเร็วพลัน  ดุจพืช  ฉันนั้น.
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร (๑๕/๒๑,๙๗/๑๕,๖๒ มจร.) ว่า
                โกจิ  ภิกฺขเว  ภิกฺขุโน  โคจโร  สโก  เมตฺติโก  วิสโย  ยทิทํ  จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา.
        ดูกร  ภิกษุ ท. ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร  ธรรมอะไรๆ ที่เป็นโคจรของภิกษุ  เป็นอมตมรดกดั้งเดิมของมารดา  โคจรคืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่สติปัฏฐาน.
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วิ.มหา. ๕/๒๘๗/๖๕ และ ที.มหา. ๑๐/๑๕๕/๘๒ มจร. ว่า
                   จตุนฺนํ  อริยสจฺจานํ                ยถาภูตํ  อทสฺสนํ
                       สํสริตํ  ทีฆมทฺธานํ                ตาสุตาเสว  ชาตีสุ.

        การที่เรา ท. ได้พากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารยืดยาวนานจนนับชาติไม่ถ้วน  ทั้งนี้ก็เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น