วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กฎไตรลักษณ์ : พญามัจจุราชได้พรากชีวิตน้องแป้งจากปิยชน

          กฏของไตรลักษณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฏสามัญญลัษณะ” คือลักษณะที่ปรากฏขึ้นตามธรรมชาติของมัน มี ๓ ลักษณะ ดังนี้
         ๑. สภาวะที่ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ หรือนอกโลกนี้ มีสภาวะที่ไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ เรียกสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นว่า อนิจจัง
        ๒. สภาวะที่มีลักษณะปรากฏกับทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น มีอาการแก่ เจ็บ และตายไปในที่สุด ซึ่งไม่สามารถทนอยู่ได้นาน เรียกสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นว่า ทุกขัง
         ๓. สะสาร หรือทุกมูลสภาวะที่เกิดขึ้น มีลักษณะไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา เรียกสภาวะที่ปรากฏนั้นว่า อนัตตา
         รูป-นาม ที่ปรากฏขึ้นจะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติทั้ง ๓ อย่างนั้น  ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงไปได้สักราย  ความจริงตรงนี้เปรียบเสมือนกิริยาการกินข้าวของมนุษย์เรา  คือ ตั้งแต่แรกเกิดมาทุกคนจะต้องกินข้าว  จะกินได้มากได้น้อยนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย  เมื่อกินเสร็จแล้วสารอาหารต่างๆ ตามหลักโภชนาหารก็ย่อมส่งผลต่อร่างกายของคนเราให้มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามหลักสรีระศาสตร์  ขั้นสุดท้ายอาหารที่กินเข้าไปก็ตองมีการขับถ่ายออกมาเป็นมูลในที่สุด  เรียกกลไกนี้ว่า “ห่วงโซ่แห่งการมีชีวิต” จะมีการสืบทอดไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น
         ประเด็นที่หยิบยกขึ้นเป็นหัวข้อเรื่องว่า “ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน” ผู้เขียนต้องการสื่อถึง “การเกิด-ตาย” ของมนุษย์ที่เกิดมา ที่พร้อมไปด้วยสติปัญญา อวัยวะน้อยใหญ่ และทักษะความสามารถที่เรียนรู้ได้หลังจากเจริญเติบโตแล้ว
         ความไม่แน่นอน หมายถึง วิถีแห่งการเกิดมาเป็นมนุษย์ของคนเรานั้นมันยาก เพราะเบื้องต้นคนๆ นั้นจะต้องมีศีลที่บริสุทธิ์พอมั่นใจได้ว่าหลังจากที่ตนตายไปแล้วจะต้องได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกอย่างแน่นอน ทุกดวงจิตเมื่อมีการจุติแล้วไปปฏิสนธิที่แตกต่างกัน บ้างก็มาจากเทวโลก (สวรรค์) บ้างก็มาจากอบายภูมิ (นรก-เปรต-เดรัจฉาน-อสูรกาย) บ้างก็มาจากพรหมโลก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเป็นหลัก  การจะไปข้างหน้าเราสามารถกำหนดได้  แต่เมื่อมาเกิดแล้วเรากำหนดให้เป็นไม่ได้ (ต้องยอมรับกรรม)
         ความแน่นอน หมายถึง กิริยาของพญามัจจุราช คือความตาย ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความเที่ยงตรงที่สุด ไม่มีใครคัดค้านได้ ไม่เหมือนกฎหมายนิรโทษกรรมที่สังคมไทยกำลังต่อต้านอยู่ในขณะนี้ (พ.ย พ.ศ. ๒๕๕๖) ในท่ามกลางความแน่นอนนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนแฝงอยู่อีก  คือโดยปกติมนุษย์มีอายุอยู่ได้ ๘๐-๙๐-๑๐๐ ปี ก็ถึงแก่ความตาย  แต่มีอีกหลายชีวิตที่ไม่สามารถดำรงชีวิตให้อยู่ถึงตัวเลขที่กำหนดนี้ได้  สาเหตุเพราะประสบกับกฎแห่งกรรมบ้าง อุบัติเหตุกรรมมาตัดรอนบ้าง หรือไม่ก็เพราะภัยธรรมชาติกวาดล้างบ้าง เป็นต้น
         เพื่อความกระชับแน่นแห่งเนื้อหาและมีความสมบูรณ์ทั้ง    อรรถะ พยัญชนะ ข้าพเจ้าขอยกกรณีตัวอย่างมาประกอบการเขียน  ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น กับหญิงสาวที่ชื่อ

ที่มา : WWW.Blogger.Com
นางสาวนันทพร ศิลาอ่อน หรือน้องแป้ง  นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ ๓ ครอบครัวของน้องแป้งมีด้วยกัน ๔ ชีวิต คุณพ่อมีอาชีพรับราชการครู เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถม คุณแม่เป็นแม่บ้าน และพี่ชายหลังจากเรียนจบได้ทำงานที่กรุงเทพฯ ครอบครัวของน้องแป้งเป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีความน่ารัก อยู่กันพร้อมหน้าพ่อ-แม่-ลูกๆ และมีคุณตากับคุณยายมาอยู่ด้วย รูปร่างหน้าตาและลักษณะนิสัยต่างๆ ของน้องแป้งจะได้เหมือนคุณแม่ กล่าวได้ว่าถอดแบบพิมพ์เดียวกันเลย  เห็นคุณแม่ก็เหมือนเห็นน้องแป้ง  ทุกคนในหมู่บ้านแม้กระทั่งพระสงฆ์ในวัด ต่างก็ชื่นชมน้องแป้งว่า เป็นเด็กดี มีความประพฤติเรียบร้อย มีนิสัยชอบเข้าวัดทำบุญให้ทานอยู่เป็นประจำ ทุกวันพระน้องแป้งจะพาคุณยายไปทำบุญที่วัดเสมอๆ (จากคำบอกเล่า)


ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
        โอ้  อนิจจา  ลมหายใจของหญิงสาวผู้ใจบุญชั่งหมดเร็วเหลือเกิน  ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตประมาณหนึ่งอาทิตย์  น้องแป้งได้มาช่วยงานศพพี่สาว ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงข้ามกัน (ทิศตะวันตก-ตะวันออกถนน) วันแต่งงานของพี่สาวคือวันประชุมเพลิงพี่สาว (วันแต่งกับวันเผาเป็นวันเดียวกัน) เนื่องจากประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟชนรถยนต์ที่นั่งมากับแฟนหนุ่มจากไปลองชุดเจ้าสาวและไปบอกญาติๆ ที่ต่างอำเภอ รถกระเด็นตกข้างทางผู้หญิงตายคาที่ส่วนแฟนหนุ่มไม่เป็นอะไรมากนัก  เมื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศให้กับพี่สาวซึ่งเป็นญาติๆ กันเสร็จแล้ว  น้องแป้งได้กลับไปเรียนหนังสือตามปรกติได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์  ทางบ้านได้โอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปให้  เมื่อเลิกเรียนก็ได้นั่งรถมอเตอร์ไซต์ไปถอนเงินที่ตู้ ATM ขณะที่ยังอยู่ในชุดนักศึกษา  แต่แล้วอนิจจังระหว่างทางที่รถกำลังแล่นไปนั้น  กระโปรงที่เธอนุ่งซึ่งมีชายกระโปรงที่ยาว  ได้เข้าไปพันกับล้อรถจักรยานยนต์ล้มลงทันที ขณะเดียวกันได้มีรถหกล้อบรรทุกรถเกี่ยวข้าวซึ่งวิ่งมาตามหลังมาด้วยความเร็ว พุ่งชนเข้าอย่างจัง น้องแป้งสิ้นลมหายใจทันที  เนื้อตัวเต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลจากรถล้มและรถชน (ถลอกปอกเปิดเต็มไปหมด) เมื่อทางบ้านได้ทราบข่าวการจากไปของลูกสาวอันเป็นดั่งแก้วตาดวงใจของพ่อ-แม่-พี่ ทุกอย่างเหมือนถูกไฟช็อต มีอาการตกตลึงกับข่าวที่เกิดขึ้น  ความโศกพึ่งจางหายไปก็กลับทวีความเศร้าอีกครั้ง  บวกกับช่วงเวลานั้น กระแสการตายโหงกำลังมาแรง  ทุกคนมองว่าคนที่ตายก่อนมาเอาดวงวิญญาณไป  สร้างความกลัวให้กับพ่อ-แม่เด็กวัยรุ่นในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก

ที่มา : WWW.Blogger.Com


         ก่อนนำส่งร่างอันไร้วิญญาณของน้องแป้งไปสลายที่เมรุสถานนั้น  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปแสดงธรรมสังเวช ๑ กัณฑ์ จึงถือโอกาสนี้พูดธรรมะให้ญาติโยม คณะเจ้าภาพ และผู้มีเกียรติทั้งหลายได้ฟัง  ได้ยกเหตุการณ์ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าทรงให้พระอานนท์พุทธอนุชาทำน้ำมนต์สวดบท “รตนปริตต์” พร้อมกับพรมน้ำมนต์ไปยังที่ต่างๆ และขอให้ผู้คนถือไตรสรณคมณ์ สมาทานศีล ๕,๘ ให้เคร่งครัด เหตุการณ์ต่างๆ ก็เริ่มสงบและเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ดิน ฟ้า อากาศ ปกติไม่พิโรธ  การบรรยายธรรมในครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่    ไม่สามารถคาดการณ์ได้มากนัก  แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้  ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนบ้านโดน อำเภอสนม เข้าวัดไปเจริญพุทธมนต์ นั่งภาวนาแผ่เมตตาตลอดทุกวัน  ตั้งแต่มีเหตุการณ์นี้ขึ้น  จำนวนญาติโยมที่ไปสวดมนต์เย็นที่วัดประมาณ ๕๐ คน เหตุการณ์ที่ยกมากล่าวนี้สามารถสอนเราได้ตลอดเวลาว่า “อย่าประมาท” ในชีวิตจริงไม่มีคำว่า เด็ก-คนแก่-คนยาก-คนจน-คนโง่-คนฉลาดหรอก ทุกชีวิตอาจตายได้ทุกเวลา ทุกนาที  ทางที่ดีที่สุดขอให้ทุกคนได้ฝึกหัดตายเอาไว้บ้าง  ฝึกภาวนาให้จิตใจมั่นคง แล้วชีวิตจะไม่ผิดหวัง
         ในท้ายที่สุดนี้  ขอผลบุญทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากธรรมบรรยายชุดนี้  ข้าพเจ้าขออุทิศให้กับนางสาวนันทพร ศิลาอ่อน (น้องแป้ง) ได้มีทิพยสมบัติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า  มีบุญนำพาดวงจิตให้พบความสุขสมหวัง ตลอดกาลนานในสัมปรายภพโน้น เทอญ.

หมายเหตุ
       ๑.  ขอบคุณครองครัวศิลาอ่อนที่ได้นิมนต์ให้ไปบรรยายธรรมสังเวชในวันฌาปนกิจสรีระสังขารน้องแป้ง
       ๒.  รูปน้องแป้งที่ใช้ประกอบการเขียนได้จาก Blogger ของน้องแป้ง ที่เธอเขียนไว้ตอนยังมีชีวิตอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น