วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รหัสลับการค้นหาผู้รู้ : ฉบับพ่อแม่ครูจารย์เยื้อน ขนฺติพโล

 
         การศึกษาเล่าเรียนศาสตร์ต่าง ๆ ทุกแขนงวิชาจำเป็นต้องอาศัยหลักการและทฤษฎีที่มีการศึกษายืนยันแล้วยืนยันเล่า คน ๆ หนึ่งสามารถศึกษาได้ในหลายทฤษฎี และหลักการและทฤษฎีหนึ่ง ๆ นั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายวิชาเช่นเดียวกัน ทฤษฎีนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการศึกษาแสวงหาความรู้ เพราะสามารถยืนยัน ตรวจสอบ องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาได้ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การศึกษาแสวงหาความรู้จำเป็นต้องอาศัยหลักทฤษฎีเข้ามาช่วย ทั้งแบบอุปนัยและนิรนัย
          การปฏิบัติธรรมให้มีความเจริญก้าวหน้าตามที่มุ่งหมายก็เช่นเดียวกัน ผู้ปฏิบัติหรือโยคีทั้งหลายต้องมีหลักในการปฏิบัติในการดำเนินจิตของตนจึงจะเห็นพัฒนาการต่าง ๆ ได้ แต่ทั้งนี้การปฏิบัติธรรมจะเร่งรีบพยายาม หรือมีการคาดการคาดหวังผลมากก็ไม่ได้ ดังประโยคหนึ่งที่กล่าวว่า “อยากได้จะไม่ได้” ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหาจิต ค้นหาผู้รู้นั้น ทำเหมือนไม่ตั้งใจแต่ก็ตั้งใจอยู่นั่นแหละ เห็นเหมือนไม่เห็นแต่ก็มองเห็นอยู่นั่นเอง
หลักและทฤษฎีค้นหาผู้รู้
          หลักปฏิบัติที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ที่พระบรมศาสดาประทานไว้ให้นั้น มีอยู่ ๔๐ อย่าง มีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า กัมมัฏฐาน ๔๐ ห้อง แต่ละวิธีก็เชื่อมั่นได้ว่าถ้าโยคีท่านใดปฏิบัติตามย่อมเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ เช่น
         ๑.   วัตถุที่ใช้เพ่งรวมจิตให้สงบนิ่ง (กสิณ ๑๐) ประกอบด้วย
               ๑.   ดิน (ปฐวีกสิณ)           ๖.   สีเหลือง (ปีตกกสิณ)
               ๒.   น้ำ (อาโปกสิณ)           ๗.   สีแดง (โลหิตกสิณ)
               ๓.   ไฟ (เตโชกสิณ)            ๘.   สีขาว (โอทาตกสิณ)
               ๔.   ลม (วาโยกสิณ)           ๙.   แสงสว่าง (อาโลกกสิณ)
               ๕.   สีเขียว (นีลกสิณ)         ๑๐. ที่ว่างเปล่า (อากาสกสิณ)
         ๒.   สิ่งที่ไม่สวยงาม ของเน่าเสีย (อสุภะ ๑๐) ประกอบด้วย
               ๑.   ซากศพที่เน่าพอง (อุทธุมาตกะ)                     
               ๒.   ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละสีต่างๆ (วินีลกะ)          
               ๓.   ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มปริออกมา (วิปุพพกะ)   
               ๔.   ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน (วิจฉิททกะ)      
               ๕.   ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว (วิกขายิตกะ) 
               ๖.   ซากศพที่หลุดออกเป็นส่วนๆ (วิกขิตตกะ)
               ๗.   ซากศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ (หตวิกขิตตกะ)
               ๘.   ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (โลหิตกะ)
               ๙.   ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน (ปุฬุวกะ)
             ๑๐.   ซากศพที่เหลือแต่กระดูก (อัฏฐิกะ)
         ๓.   ใช้การระลึกถึง (อนุสติ ๑๐) ประกอบด้วย
               ๑.   ระสึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ)    
               ๒.   ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน (ธัมมานุสติ)        
               ๓.   ระลึกถึงพระสงฆ์ (สังฆานุสติ)                   
               ๔.   ระลึกถึงศีลที่เราปฏิบัติ (สีลานุสติ)               
               ๕.   นึกถึงการบริจาคทานที่เราเคยทำ (จาคานุสติ)  
               ๖.   นึกถึงพระคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย (เทวตานุสติ)
               ๗.   ใช้ความตายเป็นอารมณ์ (มรณสติ)
               ๘.   พิจารณาส่วนประกอบในร่างกายเรา (กายคตาสติ) 
               ๙.   ใช้จิตกำหนดที่ลมหายใจ (อานาปานสติ)
              ๑๐.  ระลึกถึงคุณของพระธรรม(อุปสมานุสติ)
         ๔.   ธรรมที่ใช้สำหรับดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (อัปปมัญญา ๔) ประกอบด้วย
               ๑.   เมตตา คือความปรารถนาที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข
               ๒.   กรุณา คือความคิดรู้สึกสงสารอยากให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์
               ๓.   มุทิตา คือความรู้สึกยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นมีสุข
               ๔.   อุเบกขา คือการวางเฉย เป็นกลางในความประพฤติและความคิด
               ๕.   อาหารที่ต้องเน่าเสีย (อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
         ๖.   ใช้การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในกาย (จตุธาตุววัฏฐาน) ประกอบด้วย
               ๑.   ธาตุที่กินพื้นที่นั่นก็คือธาตุดิน         (ปฐวีธาตุ)
               ๒.   ธาตุที่เป็นของเหลวนั่นก็คือธาตุน้ำ    (อาโปธาตุ)
               ๓.   ธาตุที่มีความร้อนนั่นก็คือธาตุไฟ      (เตโชธาตุ)
               ๔.   ธาตุที่ทำให้สั่นไหวนั่นก็คือธาตุลม     (วาโยธาตุ)
         ๗.   ใช้สิ่งที่ไม่มีรูป จับต้องไม่ได้เป็นอารมณ์ (อรูป ๔) ประกอบด้วย
               ๑.   ภาวะของฌาณที่ใช้ช่องว่าง หรือความว่างเปล่าอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ (อากาสานัญจายตนะ)
               ๒.   ภาวะของฌาณที่ใช้ความหาที่สุดไม่ได้ของวิญญาณเป็นอารมณ์ (วิญญาณัญจายตนะ)
               ๓.   ภาวะของฌาณที่ใช้ภาวะที่ไม่มีอะไรกำหนดเป็นอารมณ์ (อากิญจัญญายตนะ)
               ๔.   ภาวะของฌาณที่ว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เนวสัญญานาสัญญายตนะ)
กิจเบื้องต้นก่อนการปฏิบัติธรรม
       ชาวไร่ชาวนาเวลาถึงฤดูเพาะปลูกจะต้องมีการตระเตรียมตั้งแต่ดิน กล้า น้ำ ปุ๋ย และค่าแรงงานไว้ให้พร้อม ถ้าสิ่งเหล่านี้พร้อมก็จะทำให้การทำงานเร็วขึ้นสามารถทำเวลาได้ ถ้ามีเวลาพอก็สามารถไปรับจ้างคนอื่นได้ การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ผู้ปฏิบัติต้องมีการเตรียมพร้อม (การปฏิบัติจิตภาวนาไม่มีการเลือกเพศนะว่า ต้องเป็นเพศชายและต้องเป็นนักบวชอย่างเดียว มันไม่ใช่อย่างนั้น การปฏิบัติธรรมไม่มีเพศ ชายก็ดี ผู้หญิงก็ดี มิใช่เพศชายเพศหญิงก็ดี สามารถปฏิบัติได้) คือเบื้องต้น  ๑.       ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์ เช่นสำหรับอุบาสกอุบาสิกาควรการรักษาศีล ๕ หรือศีลอุโบสถ ส่วนสามเณรต้องมีศีล ๑๐ ภิกษุสงฆ์ศีล ๒๒๗
       ๒.   ต้องมีศรัทธาที่แน่วแน่ในการปฏิบัติ คือเชื่ออย่างสุดใจเลยว่าธรรมะของพุทธเจ้ามีจริงสามารถปฏิบัติให้รู้ตามได้
         ๓.   มีความเพียรหนักแน่น ไม่เป็นคนจับจด สนใจเรียนวิธีกัมมัฏฐานแบบไหนก็ทำแบบนั้นจนถึงที่สุด ถ้าทำจนสุดกำลังแล้วไม่เกิดผลจึงเปลี่ยนวิธีใหม่ แต่ทุกครั้งขอให้ทำด้วยความตั้งใจและมีใจที่เชื่อมั่นจริง ๆ
         ๔.   บุญกิริยาอย่างอื่นก็กระทำไปพร้อม ๆ กันการปฏิบัติธรรมด้วย เช่น การให้ทาน การฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติผู้อื่นที่มีอาวุโสกว่า  การเอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่น การบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมต่าง ๆ เพราะถือเป็นการบริหารร่างกายไปในตัว (การปฏิบัติธรรมนั้น จิตใจจะไม่เครียดแต่ร่างกายธาตุขันธ์แถบแตกหัก)
         ที่กล่าวมานี้เป็นกิจเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมต้องเตรียมให้พร้อม และอาจจะมีอย่างอื่นเข้ามาอีก แต่ก็ไม่เกินนี้ ถ้าสี่อย่างนี้พร้อมก็จะเป็นปัจจัยส่งผลให้การพัฒนาจิตใจของเราก้าวหน้าเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นด้วย เช่น อาหาร บุคคล สถานที่ ธรรมที่สัปปายะ คือเอื้อต่อการปฏิบัติ
         ข้อสังเกต  คือสำหรับผู้ที่ห่างไกลวัดวามาก นาน ๆ เข้าวัดครั้งหนึ่ง  ศีลก็ไม่ค่อยรู้จัก  ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้มักจะได้ดี  เพราะ ๑. ตนไม่รู้ทำตามที่อาจารย์บอก  ๒. ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จิตจึงไม่ค่อยข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ตนกระทำในวันหนึ่ง ๓. มีศรัทธาและตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติธรรมเพราะเจอปัญหาหนักในชีวิตจึงไม่สนใจอะไรปฏิบัติอย่างเดียว


ทางลัดเพื่อค้นหาผู้รู้ ตามแบบพระอาจารย์เยื้อน ขนฺติพโล
         การสอนกัมมัฏฐานของพ่อแม่ครูจารย์นั้น ท่านมักพูดเสมอว่า “ท่านจะเก็บตก” คือในปัจจุบันนี้มีสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานเกิดขึ้นมากมาย แต่ละสำนักก็จะมีวิธีการสอนที่แตกต่างออกไป ผิดบ้างถูกบ้างแต่ก็เข้าใจว่าวิธีที่ตนสอนนั้นถูกแล้ว  เพราะตามตำราว่าแบบนี้ บางสำนักก็ยึดตำรามากจนปฏิเสธวิธีการอย่างอื่น มองวิธีการหรือรูปแบบอย่างอื่นด้านลบไปเลยก็มี ประเด็นนี้ผู้เขียนเคยนำเรียนพ่อแม่ครูจารย์เยื้อน ท่านพูดสั้น ๆ ว่า “ถึงที่สุดไหม ถ้าไม่ถึงที่สุดไม่ต้องพูดเพราะไม่จบ” วิธีการสอนกัมมัฏฐานของท่านนี้ จัดอยู่ในหลักกัมมัฏฐาน ๔๐ ทุกอย่าง เพียงแต่ท่านนำมาประยุกต์ใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ และมีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด คือท่านใช้น้ำเย็น ๆ เป็นอุบาย หรือเป็นสื่อในการสอน เวลาใครมาเรียนถามกัมมัฏฐาน หรือปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ แม้กระทั้งผู้ที่กำลังจะฝึกหัดใหม่ ๆ ท่านจะให้กินน้ำเย็นก่อน เน้นว่าต้องเป็นน้ำเย็นเจี๊ยบ กินเป็นแก้วหรือได้เป็นขวดยิ่งดี (ไม่ต้องฟอร์มผู้ดีว่ากินจุ) กินเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่กินเพื่อให้อิ่ม ท่านให้เหตุผลว่า “เวลาที่จิตของผู้ปฏิบัติเข้าสู่ความสงบแท้จริงแล้ว จะมีอาการเหมือนขณะน้ำเย็น ๆ ที่กำลังไหลลงสู่ลำคอ ผ่านลำไส้ไปรวมอยู่ที่กระเพาะอาหารเลย”

         โดยปรกติ เวลาปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่จะกำหนดที่ตั้งไว้ที่ปลายจมูกดูลมหายใจเข้า-ออก พร้อมกับบริกรรมภาวนากำกับไว้ว่า พุท-โธ ดูไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสงบ (แต่สำหรับส่วนตัวพ่อแม่ครูจารย์เยื้อน ท่านว่ากำหนดแบบนี้เป็นเพียงการเฝ้าดูเฉย ๆ ไม่สามารถสงบได้ ถึงสงบได้ก็ไม่ถึงจิตเดิม) ขณะที่ท่านฝึกหัดใหม่ ๆ ท่านก็กำหนดลมหายใจเข้าบริกรรมว่า-พุท หายใจออกก็บริกรรมว่า-โธ ขณะที่นั่งอยู่นั้นก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากำหนดแบบนี้ไม่วันสงบหรอก เพราะเวลาที่หายใจเข้า-ออก ร่างกายมีอาการสั่นไหว และผะวงกับลมหายใจสั้น-ยาวอีก จิตใต้สำนึกของท่านลึก ๆ พูดขึ้นว่า ต้องกำหนดข้างใน คือเวลาหายใจเข้าเต็มปอดจะมีความรู้สึกสุดท้ายลึก ๆ หวิว ๆ อยู่ข้างใน ให้กำหนดพุท-โธตรงนั้น พุท-กำหนดไว้ข้างในพอ-โธก็ยังกำหนดไว้ที่เดิม ไม่เกินสิบนาทีจิตก็สงบ (สำหรับผู้ที่มีการสะสมมามากแล้ว) ท่านกล่าวว่า คนเราจิตจะสงบได้จริง ๆ ภายใน ๕-๑๐ นาที เท่านั้น ถ้าเกินนั้นมันวุ่นวายมากกว่า หรือไม่ก็ได้แต่อดทนข่มจิตไว้เฉย ๆ และการสงบของท่านในครั้งนี้ครั้งเดียวเปลี่ยนจิตท่านหมดเลย  กลายเป็นคนใหม่ เรียกว่าลงครั้งเดียวถึงมหานครจิต พอถอนขึ้นมาธาตุรู้ก็เกิดขึ้นภายใน รู้ภายในอยู่ตลอดเวลา คือจิตเข้าในนั่นเอง อาการของการจิตเข้าในของท่านนี้ สังเกตเห็นว่าจะไม่มีอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น นิมิตต่างๆ นรก-สวรรค์ หรืออาการของจิตที่แสดงออก จะมีแต่กระแสธรรมล้วน ๆ สงบแล้วสงบเลยไม่มีเสื่อม จนถึงปัจจุบันนี้ และไม่มีบอกว่าภาวนาแล้วได้ธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เช่น โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ จะไม่มีคำสมมติบัญญัติเหล่านี้มารบกวนจิตเลย ท่านใช้คำว่า “มีเพียงจิตเหนือโลก” เมื่อปฏิบัติได้แบบนี้ จิตจะแน่วตลอดเวลา เป็นจิตที่ขยัน เป็นจิตที่มีความอดทน เป็นจิตที่พร้อมจะทำประโยชน์ให้กับโลก
         วิธีการที่ท่านประยุกต์จากประสบการจริงที่จิตท่านเข้าสู่ความสงบนั้น คือการใช้น้ำเย็น ๆ ท่านเคยกล่าวว่า “ท่านใช้เวลาหลายปีกว่าจะคิดสูตรนี้ได้ เพื่อให้ง่ายและมีความใกล้เคียงของจริง” เมื่อทุกคนกินน้ำเย็นเข้าไปแล้ว จะนั่งอิริยาบถไหนก็ได้ตามสะดวกของธาตุขันธ์ ให้กำหนดตามความเย็นตั้งแต่เรากลืนผ่านลำคอเข้าไป จนในที่สุดถึงกระเพาะหรือบริเวณสะดือเขาเรา จะกำหนดเหนือสะดือขึ้นมาประมาณ ๒ นิ้ว ก็ได้ การกำหนดนี้ คือการเฝ้ามอง เฝ้าสังเกต จุดความเย็นสุดท้ายที่ปรากฏ โดยกำหนดลงไปข้างในตรงที่เย็นนั้น ถ้าความเย็นหายให้นึกใหม่หรือกินน้ำเข้าไปใหม่ จะบริกรรมพุท-โธหรือไม่บริกรรมก็ได้ เพราะขณะนี้เราก็นึกธาตุรู้อยู่แล้ว มิใช่การเพ่ง-บังคับนะ เฝ้ามองอยู่เฉย ๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนจะรู้สึกลำบาก อึดอัดนิดหน่อย แต่พอนานไปจะรู้สึกสบายขึ้นและง่ายขึ้น จะเดิน จะวิ่ง จะปฏิบัติภารกิจใด ๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่ขัดกับการกำหนดเช่นนี้ ให้เรากำหนดทุกอิริยาบถ ให้เข้าใจว่านี่เป็นการกำหนดภายใน หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ใช้คำว่า “อาศัยความคิดนั่นแหละจึงจะรู้” คือรู้จิตในจิต อันนี้เป็นวิธีการที่สำคัญ ทุกวิธีการที่มีสอนในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ใครจะอ้างว่าวิธีการของสำนักเขาเป็นวิปัสสนา คือเป็นสายตรงให้ถึงความหลุดพ้นก็ตาม ที่กล่าวอ้างมานั้นยังไม่ใช่เสียทีเดียว  ที่ใช่แน่ ๆ คือทุกวิธีการมุ่งไปสู่ความสงบ หลังจากสงบแล้วเท่านั้นจึงจะวัดกันว่าผู้สอนจะสามารถชี้แนะได้ไหม และการชี้แนะนั้นผู้สอนต้องถึงด้วย เหมือนพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล เหล่าสาวกที่ออกจากป่ามาเรียนกัมมัฏฐานล้วนสามารถแก้ปัญหาได้หมด หรือในยุคที่วัดป่าบ้านตาดมีหลวงตามหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน อยู่ผู้มีปัญหาด้านจิตภาวนาล้วนได้รับการแก้ไขและผ่านไปในที่สุด แต่ปมปัญหามีอยู่ตรงที่ว่า ปัจจุบันคนสนใจธรรมะมาก คือสนใจอ่านแต่ไม่ปฏิบัติ  หรือสนใจปฏิบัติตามสำนักต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้รูปแบบแล้วมาเปิดสถาบันสอนของตน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกิจกรรมการเลี้ยงเด็กเล็ก ๆ นั่นแหละ ถ้าหวังแค่เจริญเติบโตเพียงอย่างเดียว  ก็เปรียบเสมือนคนที่สนใจปฏิบัติเพียงรูปแบบ  หรือบางคนอยากมีลูกแต่ไม่ยอมแต่งงาน แต่จิตใจของคนเป็นพ่อ-แม่จะเลี้ยงให้โตและให้การศึกษามีความมั่นคงในชีวิต การปฏิบัติธรรมก็ต้องให้ได้อย่างนั้นเหมือนกัน คือต้องประคับประคอง เอาใจใส่ ยอมลำบากเพื่อฝึกฝน ผลออกมาก็คือความก้าวหน้าทางจิต เป็นความสุขที่สันติที่สุด

ผลลัพธ์ และความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น
         จากคำยืนยันของพ่อแม่ครูจารย์ และจากญาติธรรมทั้งหลายที่ปฏิบัติตามแนววิธีนี้ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เข้าแล้วไม่ออก” จิตจะอยู่ภายในตลอดเวลาไม่มีเสื่อม จิตจะเป็นหนึ่งเดียวไม่มีสอง และสามารถประกอบกิจกรรมการงานทุกอย่างได้ปรกติเหมือนเดิม ไม่ต้องมานั่งภาวนา ไม่ต้องทำทางเดินจงกรม หนังสือธรรมไม่ต้องอ่าน เพราะทุกอย่างดูใจตัวเองอ่านใจตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว จากคนที่ชอบหลับก็กลับตื่นตลอด  บางครั้งต้องฝืนให้นอนเพื่อถนอมธาตุขันธ์ เป็นคนที่ขยันร้อยเท่า คนอื่นวุ่นวายกับคำพูดคนอื่น  แต่ผู้ปฏิบัติจิตวุ่นอยู่กับความสงบ ไปไหนมาไหนเหมือนมีอีกคนไปด้วยกันตลอด จิตในขั้นนี้ทำอะไรก็เจริญสำเร็จเป็นที่วางใจแก่ตนเองและผู้อื่น อยู่ก็ดีไปก็ดี
         พ่อแม่ครูจารย์เคยให้อุบายแก่พระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง  เกี่ยวกับเครื่องอยู่ของจิตว่า “ถ้าจิตมีสมาธิก็ให้อยู่กับสมาธิ  ถ้าจิตมีความปัญญาก็ให้อยู่กับปัญญา ถ้าจิตมีผู้รู้ก็ให้อยู่กับผู้รู้ ถ้าจิตมีความว่างก็อยู่กับความว่าง” ถ้าเอาจิตไปอยู่กับอย่างอื่นมันเป็นทุกข์ ที่ทะเลาะกันทุกวันนี้เพราะเอาจิตไปอยู่กับอารมณ์นั้นมันเลยทะเลาะไม่จบไม่สิ้น
บทสรุป
         การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน เสมือนลมหายใจ ถ้าขาดลมเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น การปฏิบัติธรรมให้นึกเสมอว่าเราจะต้องตายเดี๋ยวนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ อย่าประมาท อย่านิ่งดูดายไม่สนใจที่จะฝึกหัดปฏิบัติเพื่อความสงบสุขทางใจของตน การภาวนา คือการขัดเกลาจิตใจตนให้บริสุทธิ์จากธุลีคือกิเลส เป็นการเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง เหมือนผู้ที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาดี จะประกอบอาชีพอะไรก็สามารถทำได้ถึงไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้และดีได้ในที่สุด วิธีการภาวนามีหลายวิธี เหมือนทางหลวงสายต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าสู่จุดเดียวกันคือมหานครกรุงเทพฯ วิธีการเหล่านั้นก็เช่นเดียวกันต่างมุ่งสู่ความสงบ แต่ทั้งที่รู้ว่าวิธีการเหล่านั้นสามารถสงบได้เราก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะติดอารมณ์ต่าง ๆ


         ฉะนั้น วิธีค้นหาจิตค้นหาผู้รู้ที่พ่อแม่ครูจารย์เยื้อน ขนฺติพโล ท่านได้ฝากไว้ให้พวกเราได้ศึกษากันนี้ เป็นวิธีลัดหรือทางลัดที่สามารถนำจิตไปสู่ความสงบได้อย่างไม่ยาก เมื่อได้สัมผัสกับความสงบแล้วก็จะรู้สึกสบายเหมือนธรรมชาติความเย็นของน้ำที่เราดื่มเข้าไปนั่นเอง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น