วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร



วิริยะกะถา[1]
นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ.
คนจะล่วงทุกข์ได้  เพราะความเพียร.
          บัดนี้  จัดได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น  พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติ  เป็นลำดับต่อไป
          คำว่าทุกข์  คือสภาพที่บีบคั้นเบียดเบียน  มีความลำบากไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  มีความคับแคบใจอันมีเหตุมาจากความไม่สมปรารถนา  ไม่ได้ดังใจ  ได้สิ่งของบางอย่างมาแล้วไม่ถูกใจ  ตลอดถึงการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ  เป็นเหตุแห่งความทุกข์เป็นความลำบาก  กล่าวโดยที่สุดพระพุทธเจ้าตรัสว่า  สังขารร่างกายนี้ก็เป็นทุกข์  ฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ความทุกข์เป็นความจริง  เป็นทุกข์อริยสัจ  ความทุกข์นี้มีมาประจำกับตัวเราแล้วตั้งแต่เกิด  มีความลำบากในการที่จะเลี้ยงชีพ  ทั้งตัวเองและคนอื่น  แม้การศึกษาเล่าเรียนของเรานี้ก็เหมือนกัน คือเป็นทุกข์  เป็นความลำบาก  แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาสั่งสอนให้พวกเรามองให้เห็นความทุกข์  และก็ให้ยอมรับว่ามันมีอยู่จริง  ไม่ให้จมปลักอยู่กับมันไม่ให้เศร้าโศกและเสียใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์  พระพุทธองค์ทรงสอนให้หาทางหนีจากทุกข์ หาทางแก้ทุกข์  เพื่อที่จะให้มีความทุกข์น้อยลงให้มีความสุขตามปกติที่ใจมุ่งหวัง
          การจะหนีจากความทุกข์หาทางแก้ทุกข์นั้นพระองค์ก็ทรงสอนให้มีความเพียรก็คือ  ประการแรกเพียรพยายามไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่เรา  ประการที่สอง  เพียรละสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่ความสุขของเรา  ประการที่สาม  เพียรพยายามทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์แก่เรา  และประการที่สี่  เพียรรักษาความดีสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในตัวเรา  ให้คงอยู่ต่อไป  นี้คือทางที่จะแก้ความทุกข์  ทางที่จะพ้นจากความทุกข์  ความเพียรสี่ประการนี้เป็นสิ่งที่คนเราสามารถที่จะทำได้  เพราะว่ามนุษย์เป็นผู้มีความคิด  มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าสัตว์เหล่าอื่น  สมดังพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ธัมมปทคาถาว่า
ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ
ในหมู่มนุษย์  ผู้ฝึกตนได้แล้ว  เป็นผู้ประเสริฐ.
          แสดงว่ามนุษย์เรานี้  เป็นผู้ฝึกฝนตนเองได้  ด้วยความเพียรพยายามของตัวเขาเองในการศึกษาเล่าเรียนของเรานี้ก็เช่นกัน  กว่าที่เราจะจบมาได้แต่ละชั้นก็มีความลำบาก  และยิ่งในการที่เราจบมีเกรดที่ดีแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย  เราต้องใช้ความเพียรพยายามฝึกฝนตนเองหมั่นศึกษาค้นคว้า  ละสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเรา เอาใจใส่ในงานที่ครูอาจารย์มอบหมายให้  ไม่เกียจคร้าน  เมื่อเราหมั่นขยันอดทนฝึกฝนอยู่อย่างนี้  ก็จะเห็นได้ว่าความยากลำบากเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องยาก  เราก็จะได้รับผลสำเร็จในการศึกษา  และภาคภูมิใจในตัวของเรา  ไม่เฉพาะตัวเรา  แม้คนอื่นก็จะยกย่องสรรเสริญว่าเป็นเด็กดี  หรือเป็นผู้ประเสริฐ  ถ้าหากขาดการฝึกฝน  แล้วไซร้จะกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลผู้ประเสริฐก็หาไม่จะเป็นคนดีได้อย่างไร
          สรุปความว่า  ความทุกข์  ความลำบากของมนุษย์ต่างๆ นานาของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถจะเอาชนะได้  สามารถบรรลุความสุข  ผ่านความทุกข์นั้นได้  ก็เพราะความเพียรดังที่กล่าวมาว่า  ประการแรกเพียรสังวรระวังไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่ตัวเรา  ประการที่สองเพียรละสิ่งที่ไม่ดีนั้น  ประการที่สามเพียรสั่งสมความดีหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา  และประการที่สี่  เพียรรักษาความดีนั้นไว้ให้อยู่กับตัวเรานาน ๆ เมื่อฝึกตนเองได้แล้วก็จะเป็นคนที่มีแต่สวัสดีภาพ  เป็นผู้ประเสริฐ  สมดังนัยพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้  ณ เบื้องต้นนั้นว่า
วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ
คนจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร.
          ดังมีอรรถาธิบายมาแล้ว  เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ


        [1] พระราชันย์  พุทธสโร/ธุนาบาล (ป๊อก). น.ธ.ตรี, วท.บ. (เกษตรศาสตร์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

4 ความคิดเห็น: