วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ลัทธิขงจื๊อ



ลัทธิขงจื๊อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

          ลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) เป็นศาสนาหรือลัทธิ ที่มีขงจื๊อ (551 - 479 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นผู้วางรากฐานให้กับลัทธิขงจื๊อที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมของจีน ในสมัยจลาจล โดยเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุขเรียบร้อย ทั้งนี้จะถือหลักการเรื่องมนุษยธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักแห่งสัมพันธภาพ 5 ประการ ได้แก่ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม (สอดคล้องกับหลักศีล 5 ของพุทธศาสนา)มีบุคคลบางคนกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อเป็นระบบศีลธรรมหรือหน้าที่พลเมืองดีมากกว่าศาสนา เพราะขงจื๊อมิได้ส่งเสริมให้มีความเชื่อถือในพระเจ้าที่เป็นตัวตน หรือการสวดอ้อนวอน ตลอดจนการบูชาพระผู้เป็นใหญ่ แม้ขงจื๊อจะสอนหนักไปทางจริยธรรมและ หน้าที่พลเมืองดี แต่หนังสือบางเล่มที่ขงจื้อแต่งไว้ก็ได้กล่าวถึงเทพเจ้า และอำนาจของเทพเจ้าที่มีอยู่เหนือโลก เช่นคัมภีร์อี้จิง หรือคัมภีร์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงได้กล่าวถึง ซ่างตี้ หรือเซี่ยงตี่ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลก เป็นที่น่าสังเกตว่า ขงจื๊อ เขียนคัมภีร์อี้จิง อันว่าด้วยจักรวาลและการสร้างโลกนั้น เป็นเพียงการรวบรวมความเชื่อของเก่าที่มีมาดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างโลก ตามความเห็นและความเชื่อถือของคนโบราณ
          ขงจื๊อสั่งสอนลูกศิษย์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ลูกศิษย์ของขงจื๊อจึงมีทุกชนชั้น ทำให้เกิดชนชั้นปัญญาชนขึ้นในสังคมจีน ปัญญาชนเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเข้ารับราชการ โดยหวังว่าปัญญาความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมมาจะเป็นประโยชน์ต่อการ ปกครองบ้านเมือง และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงและฐานะให้กับตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูลอีกด้วย ลัทธิขงจื๊อ เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แนวคิดหยู ซึ่งหมายถึงแนวคิดของปัญญาชน ผู้ที่ศึกษาแนวคิดของขงจื๊อและนักคิดคนอื่นๆ ในกลุ่มนี้เรียกกันในสมัยโบราณว่า ปัญญาชนหยู หรือชาวหยู ปัจจุบันลัทธิขงจื๊อแม้จะหมดบทบาทในด้านการเมือง แต่ในด้านวัฒนธรรม ลัทธิขงจื๊อยังฝังลึกอยู่ในสังคมจีนนานนับเป็นศตวรรษจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีน

ประวัติและพัฒนาการ
          นับตั้งแต่ขงจื๊อเริ่มรวบรวมตำราและคัมภีร์โบราณได้ห้าเล่ม คือ ซือจิง หรือคัมภีร์กวีนิพนธ์ ซูจิงหรือประวัติศาสตร์โบราณ หลี่จี้ หรือบันทึกว่าด้วยธรรมเนียมประเพณี อี้จิงหรือคัมภีร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและชุนชิว หรือประวัติศาสตร์สมัยชุนชิว แล้วได้ตั้งสำนักวิชาให้การศึกษาแก่ประชาชน หลังขงจื๊อเสียชีวิตไปแล้ว เม่งจื๊อหรือ เมิ่งจื่อ กลายเป็นนักคิดคนสำคัญของสำนักวิชาขงจื๊อหรือหยู เม่งจื๊อได้สังเคราะห์แนวคิดจากคัมภีร์ทั้งห้า ที่เน้นเสนอแนะให้ผู้ปกครองยึดมั่นคุณธรรมและสันติวิธี ยุติศึกสงครามที่กำลังดำเนินอยู่และเดินทางไปเสนอความเห็นแก่ผู้ปกครองใน อาณาจักรต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ความคิดสำคัญของเม่งจื๊อคือความเชื่อในความดีงามตามธรรมชาติของมนุษย์ การส่งเสริมการศึกษาและยังเสนอว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรมเหนือกว่าประชาชน อีกทั้งประชาชนพึงเคารพนับถือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม การล้มล้างเป็นสิ่งที่ชอบธรรม
          นักคิดคนสำคัญอีกคนของสำนักขงจื๊อคือซุนจื๊อหรือ สวินจื่อ ซึ่งเสนอให้อบรมสั่งสอนผู้คนให้มีคุณธรรมเคร่งครัด โดยเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีคุณธรรมมาก ขึ้น ซุนจื๊อเชื่อว่า "มนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน" ทำให้ต้องมีการควบคุมและอบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นคุณธรรมอย่างจริงจัง
          นักคิดและปัญญาชนสำนักวิชาขงจื๊อกลับถูกปราบปรามกวาดล้างครั้งใหญ่ในสมัย ราชวงศ์ฉินหรือจักรพรรดิจิ๋นซี ในเหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" เพราะเห็นว่าปัญญาชนขงจื๊อต่อต้านการปกครองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไร้ คุณธรรม อย่างไรก็ตาม ลัทธิขงจื๊อได้รับการฟื้นฟูและมีบทบาทอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ.- ค.ศ. 220) และกลายเป็นลัทธิคำสอนที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของจีนมากที่สุด รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคมในฐานะหลักในการดำเนินชีวิตของ ผู้คน คัมภีร์และตำราของสำนักวิชาขงจื๊อกลายเป็นตำราเรียนและวิชาหลักของชาวจีน ตั้งแต่โบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ้างอิง
  • "Confucianism," Microsoft® Encarta® Online Encyclopedia 2008
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น